Days of Future Past

พฤษภา’14 กับหนังที่ได้ดู

04/05/14 – The Grand Budapest Hotel (Wes Anderson/ US, Germany/ 2014) – 4/5

 ดูแบบไม่มีซับ (มีแต่ซับจีนที่อ่านไม่ออก) เลยไม่อาจสามารถเจาะลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยอะไรได้เท่าไหร่ โชคดีที่เส้นเรื่องหลักมันชัดเจนมากอยู่แล้วเราเลยสนุกกับหนังไปได้ตลอดรอดฝั่ง และมันก็เพียงพอแล้วล่ะสำหรับเราในการได้ดูหนัง เวส แอนเดอสันในโรง หนังมันเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนและเหตุการณ์ว่ายป่วงเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของๆโรงแรมหรูบนภูเขาใหญ่ แน่นอนอะไรที่เราคิดถึงในหนังเวสนั้นมากันครบทั้งงานภาพเด่นๆและงานศิลป์ล้ำๆประกอบกับนักแสดงดังๆที่ฟอร์มกันมาแบบจัดเต็มเยอะแยะมากมายอันพร้อมใจยกกันมาแสดงกันในแบบ “เวสๆ” ด้วยความหน้าตายและบทสนทนากวนๆ จนเราพบว่าหนังเรื่องนี้แม่งกวนบาทาที่สุดแล้วในบรรดาหนังของเวสที่เราเคยผ่านตามา

ปล. โรง Golden Village ในสิงคโปร์นี่โฆษณาเยอะเหมือนกันนะ ตัวอย่างแค่ตัวเดียวนอกนั้นโฆษณาไปสิบนาทีได้ (เราดูโรงในห้าง Plaza Singapura ใน Dhoby Ghaut)

10/05/14 – Bad Milo (Jacob Vaughan/ US/ 2013) – 3/5

ในวงการภาพยนต์เราเคยมี จิมิเขมือบจู๋ มาแล้ว แล้วทำไมเราจะมี ก้อนขี้ขย้ำคน บ้างไม่ได้ล่ะ!

ด้วยพล๊อตอันว่าด้วยก้อนขี้ที่ออกมาฆ่าคนก็ชัดมากเหลือเกินแล้วว่าหนังมันตั้งใจจะคัลล์แบบหลุดโลกไปเลย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นแหละ แล้วพอหนังมันชัดเจนมันก็ใส่ความอุบาทมาแบบจัดเต็ม แต่เดี๋ยวก่อน ใช่ว่าหนังจะคัลท์ไร้สาระ หนังให้มิติของก้อนขี้นั้นด้วยการใส่แรงขับด้านมืดของจิตใต้สำนึกของผู้เป็นเจ้าของร่างเข้าไป มันเลยกลายเป็นว่าไอ้ก้อนขี้นี้มันฆ่าคนที่เจ้าของร่างมันไม่ชอบ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ เก๋ดีว่ะ มึงเอาความซับซ้อนทางจิตมาใส่ไว้ในสิ่งปฏิกูล แถมสืบทอดต่อรุ่นได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หนังก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น เว้นเสียแต่การมอบความบันเทิงเพียวๆและบอกกับเราว่า ถ้าคิดจะคัลท์หรืออุบาท จงทำมันอย่างภาคภูมิ

10/05/14 – Four Eyed Monsters (Susan Buice, Arin Crumley/ US/ 2005) – 4.5/5

จำได้ว่าหนังมันดังมากในปีที่มันออกฉาย กลายเป็นหนังอเมริกันอินดี้ผู้ก่อกำเนิดการ PR, จัดจำหน่ายและฉายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แต่สำหรับเราๆพบว่าหนังมันมีความสำคัญมากกว่านั้นมากๆในแง่ของการตั้งคำถามถึงเรื่องความแปลกแยกและการเติมเต็ม

หนังมันชัดเจนมากว่ามันต้องการสื่อสารโดยตรงไปสู่เหล่ามนุษย์ทั้งหลายที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกต่อโลก แปลกแยกต่อสังคม พวกที่มีความฝันแต่ยังไปไม่ถึงหรือมวลหมู่ผู้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวและโหยหาอะไรซักอย่างมาเติมช่องว่างๆเหล่านั้น ซึ่งสิ่งที่หนังมันเอามาเติมใส่ในช่องเหล่านั้นก็คือระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค อันเป็นการตั้งคำถามร่วมสมัยที่ว่า ระบบเน็ตเวิร์คเหล่านี้มันจะทำให้คนเราเข้ากับ โซเชียล ได้จริงหรือ? โดยเทียบผ่านตัวละครที่ยกความเป็นโซเชียลแบบเน็ตเวิร์คนั้นมาไว้ในโลกจริงเสียเลย (ผ่านปากกาและกระดาษ) และมันน่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆด้วยกระมั๊งที่พูดถึงการสร้างความสัมพันธ์ผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คในยุคที่มันยังไม่แพร่หลายมากเหมือนในตอนนี้ มันเลยกลายเป็นหนังที่มาก่อนกาลไปอีกทอดหนึ่ง

อีกส่วนที่เราว่ามันดีมากๆคือการตีกลับของตัวเรื่องที่กลายเป็นเรื่องเล่าของการทำหนังของตัวผู้กำกับในช่วงท้าย กลายเป็นว่าเรื่องที่เราได้ดูมาทั้งหมดคือเรื่องราวของตัวผู้กำกับเอง มันเลยกลายเป็นว่าตัวหนังมันไปเติมเต็มชีวิตของตัวผู้กำกับแล้ว แต่กลับไปมอบความแปลกแยกคืนกลับให้กับคนดูอีกครั้งหนึ่ง

11/05/14 – Naked Killer (Clarence Fok Yiu-leung/ HK/ 1992) – 3/5

 เอามาดูเพราะอยากเก็บไตรภาคหนังชุด Naked ของหวังจิ่งให้ครบพร้อมด้วยการตามหาคำตอบว่าเหตุใดหนังชุดนี้จึงถูกสร้างออกมาทุกๆ 10ปี (Naked Weapon ในปี 2002 และ Naked Soldier ในปี 2012) หรือว่ามันคือความต้องการอย่างหนึ่งในบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยนั้นๆเอาไว้? ซึ่งพอดูครบทั้งสามภาคแล้วก็พบว่ามันไม่มีอะไรแบบนั้นเลยว่ะ (ฮา) เพราะความสำคัญจริงๆของหนังชุดนี้คือการสร้างนักแสดงเซ็กซ์ซิมโบลหญิงในแต่ละยุคขึ้นมาตะหาก (แน่นอนมันสำคัญกับกู) ภาคแรกคือ ซิวซู่เจิน ที่ขึ้นหิ้งไปแล้ว, ภาคสองคือแม็กกี คิว ที่ดังระดับโลก ส่วนภาคสามคือ เซียะถิงถิง น้องสาวของ เซียะถิงฟง ที่ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะดังแค่ไหน

พล๊อตของหนังทุกภาคมีแบบเดียว กล่าวคือตัวเอกต้องมีเหตุให้ต้องเข้ารับการฝึกฝนเพื่อเป็นนักฆ่าชั้นยอดที่ใช้ทั้งฝีมือและเสน่ห์แห่งเรือนร่าง ต้องพบเจอกับความรักต้องห้าม จบท้ายด้วยการปะกับศัตรูตัวฉกาจที่ก็เป็นเหล่านักฆ่าในสำนักเดียวกันนั้นแหละ ซึ่งเรื่องมันก็มีอยุ่แค่นั้นจริงๆ ไม่มีอะไรนอกจากนั้นแล้ว เว้นเสียแต่การดูสาวสวยออกลีลาบู๊งามๆให้ได้ชมกัน ซึ่งก็เพลินได้อยู่นะ

12/05/14 – Before Midnight (Richard Linklater/ US/ 2013) – 5/5

 เราได้ดู Before Sunset และ Before Sunrise เมื่อซักประมาณ 12 ปีที่แล้ว ดูต่อกันเลยในช่วงวัยที่ยังไม่ได้มีความสัมพันธ์กับใครมากมายนัก เราเลยรู้สึกเฉยๆกับหนังสองเรื่องก่อน (ซึ่งถ้าเอามาดูตอนนี้ เราค่อนข้างมั่นใจว่าคงสิ้นสติเสียชีวิตแน่ๆ) การดูหนังภาคนี้จึงไร้แรงกดดันใดๆ ดูแยกเอกเทศ สบายๆ ซึ่งก็พบว่ามันได้ทำให้เราสิ้นสติเสียชีวิตไปเลยจริงๆ

หนังมันยังคงการเล่าเรื่องไว้เหมือนเดิม นั้นคือการใช้ซีนน้อยๆแต่อัดแน่นไปด้วยบทสนทนาอันคมคายและเต็มไปด้วยวุฒิภาวะตามช่วงสภาวะของเจสซีและเซลีนในแต่ละช่วงวัย(แต่ละภาค) ซึ่งภาคนี้พอตัวละครมันขึ้นเลขสี่แล้ว ชีวิตผ่านอะไรมามากมาย บทสนทนาในเรื่องมันเลยเต็มไปด้วยความเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกและเข้าใจปัญหามากขึ้น รู้จักการอดทนอดกลั้น การยอมแบกรับความทุกข์ในบางเรื่องเพื่อสิ่งที่สำคัญมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ที่พวกเขาและเราค้นพบว่ามันไม่ได้ง่ายเลย มันยังมีความรักหวานๆอยู่แหละ แต่เป็นรักที่เต็มไปด้วยบาทแผลมากมาย บาทแผลที่ได้รับการเยียวยาไปด้วยพร้อมๆกัน

หนังมันมีไม่กี่ซีนแต่ทุกซีนทำเราตายได้หมด ตั้งแต่ซีนส่งลูกกลับบ้านที่ส่งผลต่อเรื่องราวในช่วงท้าย, ซีนในรถที่เป็นการปูความทรงจำให้คนดู, ซีนโต๊ะอาหารที่เหมือนเป็นการสื่อสารถึงความหลากลายของความสัมพันธ์ในปัจจัยอันมากมายทั้งในเรื่องของช่วงวัย, ในเรื่องแนวความคิด, ในความเชื่อและรวมไปถึงเรื่องความรู้สึกอันปัจเจค (ซีนนี้เป็นซีนที่เราชอบมากที่สุดในหนัง), ซีนเดินไปร้านอาหารกับการพูดถึงเรื่องราวในอดีตของคู่รัก (โดยเฉพาะการถามถึงการเจอกันบนรถไฟใน Before Sunset ที่เอากูตายไปเลย), ฉากดูพระอาทิตย์ตกดิน (อันนี้กูน้ำตาซึม), ฉากระเบิดความอัดอั้นในห้องที่เป็นการเปิดบาดแผลให้เราดู จบท้ายด้วยฉากจบอันเต็มไปด้วยความเข้าใจแสนโรแมนติก

หากใครอยากจะหาหนังที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักซักเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้จะเป็นตัวเลือกแรกๆของเราที่จะแนะนำ

16/05/14 – Rape By The Angel (Lau Wai-Keung/ HK/ 1993) – 3/5

เกริ่นนำ:
นานมากแล้วเมื่อเรายังเรียนชั้นประถม วัดใกล้บ้านมีการฉายหนังกลางแปลงล้อมกำแพงเก็บเงิน ค่าตั๋ว 10 บาท เราจำได้ว่าเราอยากดูหนังเรื่องนั้นมากๆ มันคือหนังไทยเรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง (นิรัตติศัย กัลย์จาฤก, 2537) เรารีบเข้าไปนั่งรอหนังฉายพร้อมมะม่วงที่แม่เพื่อนให้มาเป็นของขบเคี้ยว แต่แล้วพอหนังฉาย มันกลับไม่ได้เริ่มด้วยหนังไทยเรื่องนั้น มันกลับเป็นหนังจีนเรื่องหนึ่ง มันพูดถึงชายใส่หน้ากากนักข่มขืนกับเรื่องราวการหักเหลี่ยมเฉือนคมเพื่อการจับตัวชายผู้นั้น ใช่! มันเป็นหนังอาร์ที่เห็นปทุมถันโดดเด้งชัดเจน ถ้าจำไม่ผิด ณ โมเม้นต์นั้นเราตื่นเต้นมากๆที่ได้เห็นได้ดูหนังเรต III ของฮ่องกงเป็นครั้งแรก แถมดูบนจอขนาดใหญ่ ที่สำคัญเราจำได้ว่าหนังสนุกมาก สนุกจนอยากจะดูมันอีกครั้งแต่ก็หาดูไม่ได้ซักที แล้วกาลเวลาก็ผ่านไปนานนม จนเมื่อโลกมีบิตทอร์เรนให้โหลดหนังดูได้และมีคนปล่อยหนังชุดนี้ทั้ง 5 ภาค มันเลยได้กลายมาเป็นการตามหาหนังในความทรงจำของเรา แต่เดี๋ยวก่อน! มันคงไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะเอาเข้าจริงหนังเรื่องที่เราตามหาอาจจะไม่ได้อยู่ในหนังชุดนี้เลยก็ได้! ดังนั้นแล้วนี่ก็คือการดูหนังบำบัดจิตที่มาพร้อมกับความท้าทาย…มหากาพย์สัดๆอะ

ผลที่ได้:
มันยังไม่ใช่หนังเรื่องนั้นว่ะ!

ซิวซู่เจินและเยิ่นต๊ะหัวกลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากโด่งดังจาก Naked Killer เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า โดยพล๊อตหลักคือการตามไปดูแผนการอันฉลาดเป็นกรดของนักกฏหมายหนุ่มผู้ชื่นชอบการข่มขืนและการตามล้างแค้นเอาคืนของสองพระ-นาง โอเคล่ะแม้ว่ามันจะมีอะไรไม่สมเหตุสมผลพลอยให้ขัดใจอยู่บ้าง (โดยเฉพาะไอ้หุ่นตัวตลกในช่วงท้าย) แต่โดยรวมมันก็สนุกดี โดยเฉพาะการนำเสนอแผนการของทั้งตัวร้ายและพระ-นาง, การเอาตัวรอดต่างๆหรือแม้แต่เรื่องราวพ่อแง่แม่งอน แต่หากถามว่ามันมีอะไรนอกเหนือจากนั้นไหม น่าเสียดายที่มันไม่มี เว้นเสียแต่ซิวซู่เจินที่เซ็กซี่มว๊ากกก

หนังได้ แอนดริว เลา ในวัยที่เพิ่งเริ่มทำหนังมากำกับ ซึ่งเราคิดว่าเรามองเห็นแววและลายเซ็นของเขาเหมือนกันนะผ่านการเฉือนคมต่างๆที่เกิดขึ้นในหนัง

ปล. เชื่อว่าหนังที่เราตามหาคงเป็นภาคที่สองของหนังชุดนี้ (ตามปีที่ฉายร่วมกับกาเหว่าฯ) ซึ่งถ้าใช้ก็จบแล้วดูให้ครบ 5 ภาค แต่หากไม่ใช่ก็ตามหากันต่อไป (แลดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่จนน้ำตาจะไหล)

18/05/14 – Import/Export (Ulrich Seidl/ Austria, France, Germany/ 2007) – 5/5

 ต่ำตม ต่ำช้า ต่ำทรามและโสมม!…สาสมกับกูยิ่งนัก!!!

ก่อนที่จะมีไตรภาคแห่งสวงสวรรค์ (Paradise: Love/Faith/Hope) ไตรภาคอันว่าด้วยนามธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ผู้แสนประเสริฐแต่กลับเต็มไปด้วยความกลวงเปล่าไร้แก่นสาร ผู้กำกับอุลริช ซีเดิล ได้ทำหนังเรื่องนี้ออกมาก่อนหน้า หนังที่ยิ่งตอกย้ำกับเราว่า ผู้กำกับท่านนี้แกเกลียดมนุษย์จริงๆ หรือ แกเข้าใจมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้กันแน่?

หนังเล่าเรื่องราว 2 ชุด หนึ่งคือสาวชาวยูเครนลูกหนึ่งผู้ต้องไปค้าแรงงานในออสเตรียเพื่อชีวิตที่ดีกว่า อีกหนึ่งคือหนุ่มออสเตรียตกงานผู้ต้องตามพ่อเลี้ยงไปทำงานในยูเครน 2เรื่องราวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยเว้นแต่จุดร่วมเดียวกันอันว่าถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของหนัง สิ่งที่หนังตั้งใจตั้งคำถามกับผู้ชมคือสิ่งเดียวที่ไตรภาคสรวงสวรรค์มอบให้ นั้นคือ “ความเป็นมนุษย์” ตะหาก

หาก “ความเป็นมนุษย์” ในนิยามการรับรู้ทั่วไปคือความงดงาม เปี่ยมไปด้วยคุณค่ามากมายเหมือนดั่งหนังฟีลกู๊ดอันอิ่มเอมที่ถูกผลิตซ้ำๆในโลกภาพยนต์ทั้งหลายเหล่นั้น หนังของ ซีเดิล จะเป็นหนังที่มากระชากโฉมหน้า  “ความเป็นมนุษย์” ที่แท้จริงออกมา ความแท้จริงที่ถูกปกปิดเพื่อปลอบประโลมมนุษย์ให้เหลิงระเริงและคิดว่าตนสูงส่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นิยามสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ในหนังของเขานั้นไม่ได้แตกต่างจากนิยามทั่วๆไปของสิ่งมีชีวิตเดรัจฉานอื่นๆ ไม่มีการยัดความดีความชอบอะไรให้รู้สึกถึงความเหนือกว่าต่อสัตว์โลกชนิดอื่นๆ มันมีการแก่งแย่งชิงดี การเอาตัวรอด การกดขี่ข่มเหง และความเลวร้ายนาๆประการมากมายที่ไม่ใช่มาเพื่อความซะใจ แต่มันคือความเป็นอยู่ทั่วไปของมนุษย์ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่เพศสภาพใด จะเฉพาะเจาะจงซักหน่อยสำหรับคนชั้นล่างของสังคมผู้ไม่มีปากมีเสียง

ชื่อหนัง Import Export น่าจะคือการ ส่งออกและนำเข้าแรงงานราคาถูกตามการเดินทางของตัวละครในเรื่อง ส่วนความเวิ้งว้างในสภาพหิมะขาวโพลนก็ทำให้อดรู้สึกถึงความเลือดเย็นอย่างที่สุดของมวลหมู่มนุษย์ไม่ได้

18/05/14 – The Monkey King (Pou-Soi Cheang/ China, HK/ 2014) – 1/5

อย่างที่มิตรสหายท่านหนึ่งว่าไว้…..มีเงินแต่ไร้รสนิยม

โอ้โห มันหลุดทะลุโลกทะลุมิติไปจักรวาลไหนก็ไม่รู้ ไม่ต้องสนใจอะไรกันอีกแล้วกับเนื้อหาหรือการสื่อสารใดๆกับผู้ชม กูจะมอบความตระการตา ตื่นตาตื่นใจให้อย่างเดียว ประเคนอัดๆมันเข้าไปจนแทบอยากจะปิดเครื่องเล่นแล้วเลิกดูแม่งไปเลย โอเคล่ะซีจีมึงดีกูไม่เถียง แต่ถ้ามันเยอะและไม่ได้เอามาซัพพอร์ตตัวเรื่อง(อันน้อยนิดมหาศาล)ได้ล่ะก็ มันจะกลายเป็นยาขมชั้นดี กูไม่ได้อยากดูการพริ้วไหวของขนหมงขนหมอยอีเห้งเจีย กูอยากดูหนังที่สื่อสารอะไรกับกูซักหน่อยก็ยังดี ความบันเทิงก็ได้ ซึ่งมังกรหรือปีศาจวัวมันช่วยกูตรงนั้นไม่ได้เลย ให้ตายเถอะ!!!

บายเดอะเวย์ กูขอไว้อาลัยกับดาราฮ่องกงทุกคนในเรื่องนี้ด้วยนะเคอะ เหี้ย! กูไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจินจื่อตันเลย, ไม่ได้เห็นถึงความพิเศษของปีศาจหัวกัวฟู่เฉิน, ส่วนโจเหวินฟะก็โดนมังกรขโมยซีน แต่ที่เหี้ยสุดคือ เฉินฮุ้ยหลิน ในบทเจ้าแม่กวนอิม อีสัด! ความทรงจำวัยหนุ่มกูแตกสลายเป็นผุยผงเบยยยย

ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้เรามี Journey To The West ของโจวซิงฉือ ที่ว่าถึงการกำเนิดพระถังซัมจั๋ง อันเป็นการพูดถึงช่วงเวลาเดียวกันกับหนังเรื่องนี้ (ช่วงก่อนรวมกลุ่มเดินทางแสวงบุญ) แต่คุณงามความดีของหนังทั้งสองเรื่องแตกต่างกับลิบลับจริงๆ

22/05/14 – Enemy (Denis Villeneuve/ Canada, Spain/ 2013) – 4.5/5

– ดูจบ “อีสัด” ก็หลุดออกจากปาก!

– เอาตรงๆเราจับอะไรในหนังไม่ได้เลย การประติดประต่อล่มสลายลงราบคาบเมื่อฉากสุดท้ายปรากฏจนต้องกลับมานั่งทบทวนเรื่องราวทั้งหมดใหม่อีกครั้งซึ่งก็ยังคงคลุมเคลืออยู่ดี

– จะด้วยบรรยากาศอันแสนอึดอัดด้วยภาพซีดจากอมเหลือง องค์ประกอบของภาพอันเต็มด้วยการสื่อถึงความซับซ้อน(ชอร์คบนกระดานดำ, มวลหมู่ของตึก, มวลหมู่หน้าต่าง, รูปลักษณ์ของตึกต่างๆ) รวมไปถึงดนตรีประกอบหลอนๆที่มันทำให้ไอ้ความคลุมเครือเหล่านั้นมันมีเสน่ห์ขึ้นมา เสน่ห์ที่ไม่ได้เพื่อการค้นหา แต่เป็นเสน่ห์แห่งการติดกับ เหมือนเหยื่อบนใยของแมงมุมที่มันค่อยๆมากัดเราให้ตายแล้วเก็บเอาไว้เพื่อเป็นอาหาร

– จะว่าไปแมงมุมในเรื่องมันเปรียบได้กับเผด็จการที่ตัวละครมันสอนนักเรียน มันคือการควบคุมชักใยเพื่อผลประโยชน์ เพื่ออาหาร เพื่อการปกครอง ซึ่งมันก็สามารถกำเนิดขึ้นได้ในตัวของเราเอง

– กราบนักแสดงในเรื่องทุกตัว เจค เลิศวิจิตรมากๆ, ซาร่า การ์ดอน ตราตรึงสุดๆ ส่วนเมรานี่ โลลองที่รักเก่ากันอยู่แล้ว

22/05/14 – The World’s End (Edgar Wright/ UK, US/ 2013) – 3.5/5

เอ๊ดการ์ ไรท์ นี่เก่งเนอะ ทำหนัง 3 เรื่องโดยใช้ชองห์หนัง 3 แบบที่่ต่างกันชัดเจนแล้วออกมาสนุก, โดดเด่นและน่าจดจำทุกเรื่อง เพราะนอกจากจะเล่นกับชองห์ของหนังได้อย่างชาญฉลาดแล้ว เอ็ดการ์ยังใส่ใจในตัวบทตัวเรื่องที่อยู่ในชองห์นั้นๆด้วยเพื่อที่จะทำให้ตัวหนังมันมีคุณค่ามากกว่าการเป็นแค่หนังล้อชองห์ธรรมดาทั่วๆไป อย่างในเรื่องนี้ก็ใส่เรื่องราวมิตรภาพและการย้อนวันเวลาเพื่อไปพูดถึงการเติบโตของเหล่าตัวละครเข้าไป แต่ก็เสียดายอยู่นิดที่ถ้าเทียบกับหนังสองเรื่องก่อน เรื่องนี้ดูจะอ่อนด้อยที่สุด (เหตุผลหนึ่งคือส่วนตัวไม่อินกับอะไรแบบนั้น)

แต่ส่วนที่เราชอบมากๆคือเรื่องราวการเข้ามาควบคุมมนุษย์ของมนุษย์ต่างดาวที่ใช้การตีสนิทในการเข้าหา มันเหมือนด้านกลับของเมทริกซ์เพราะเราเลือกที่จะกินยาเม็ดสีแดงแทนสีน้ำเงิน การเข้ามาควบคุม เข้าเปลี่ยนให้กลายเป็นคนดี ให้รักและสามัคคีกันแบบนี้มันสะเทือนจริงๆในการดูหนังเรื่องนี้ในวันเดียวกับการถอยหลังเข้าคลองของบ้านเรา ฉากการด่ามนุษย์ต่างดาวในหนังจึงเหมือนเป็นภาพแทนของเราเองในการป่าวประกาศเรียกหาเสรีภาพที่ยังไม่ได้พบกันเสียที

24/05/14 – Timeline จดหมาย ความทรงจำ (นนทรีย์ นิมิบุตร/ ไทย/ 2557) – 2/5

หนังไม่ได้แย่อย่างที่คิด (หมายถึงแย่ขนาดรับไม่ได้เลย) แต่ก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกดีๆแห่งความอบอุ่น แห่งความรักหรืออะไรเทือกนั้นที่หนังพยายามมอบให้ได้เลย โอเคล่ะว่าหนังมันพยายามเดินตามพล๊อตเดิมในภาคแรกเพียงแต่เปลี่ยนบริบทกัน เปลี่ยนจากจดหมายมาเป็นสื่อออนไลน์แต่พูดถึงเรื่องของความสวยงามของความรักเหมือนกัน แต่อย่าลืมนะว่านั้นมันหนังเมื่อ 10 ปีมาแล้ว ไอ้ความรักแบบนั้นในช่วงนั้นมันอาจจะเวิร์คทั้งด้วยปัจจัยของตัวหนังเอง, ความแตกต่างกับหนังในช่วงเวลานั้นหรือกับบริบทสังคมที่จดหมายค่อยๆได้รับความนิยมลดลงและการสื่อสารออนไลน์ก็ไม่ได้บูมเท่าตอนนี้ ดังนั้นปัญหาแรกที่หนังพยายามทำคือการดึงผู้ชมกลับไปควานหาความงดงามของการเขียนจดหมาย มันบอกว่าการสื่อสารออนไลน์บางทีมันก็ไม่เวิร์ค จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้ แต่เชื่อว่าถ้าจดหมายเหล่านั้นไม่ได้ถูกอ่านด้วยคนที่เขียนเหมือนในหนังเราก็คิดว่ามันก็ไม่น่าจะต่างอะไรกับการสื่อทางออนไลน์นะ

ส่วนที่สองคือการกระทำของตัวละคร โดยรวมเราเข้าใจและรับได้กับไอ้สองตัวละครหลักนะ แต่ก็เฉพาะในแง่ความรู้สึก ไม่ใช่การกระทำที่หลายช่วงตอนที่เรารู้สึกว่าเออ พวกมึงเยอะไปแล้วนะ ไม่ว่าจะหมากระป๋องเอย ต้นบ๊วยเอย ผัดฝักแม้ว จักรยานหรือแม้แต่การตายของจูนและการเขียนจดหมายสุดท้ายของแทน อย่างไรก็ตามตัวละครที่น่าสนที่สุดสำหรับเราคือตัว มัท ตัวละครเดียวกับภาคที่แล้ว มันเป็นตัวละครที่แสดงให้เราเห็นว่าความรักมันคือโรคร้ายแรงที่ค่อยๆกันแทะแกะกินตัวเองและคนรอบข้างไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆและเลือดเย็น สุดท้ายแทนที่หนังจะแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของความรัก มันกลับกลายเป็นความรักเองที่เข้ายึดครองและกัดกินอย่างสุขใจ แถมถ่ายทอดต่อไปสู่รุ่นลูกอีกตะหาก

หนังก็ยังคงฟรีชภาพของความเป็นชนบทและเมืองใหญ่ในภาพจำแบบ stereotype อยู่ดี (ชนบท = สงบสุข น่าอยู่ คนน่ารัก บริสุทธิ์ / เมืองใหญ่ = วุ่นวาย ไม่น่าพิศมัย คนแย่ เมืองบาป) แล้วก็ตอกย้ำประเด็นว่า ความรัก จะยังคงทำให้ทุกอย่างสวยงาม…อืมมมมมม

ปล. เจมส์ จิ เล่นหนังไม่ได้ว่ะ เราไม่ได้รู้สึกไปเองใช่ไหม?????

24/05/14 – Raped By an Angel 2:The Uniform Fan (Aman Chang/ HK/ 1998) – 1.5/5

เกริ่นนำ:
นานมากแล้วเมื่อเรายังเรียนชั้นประถม วัดใกล้บ้านมีการฉายหนังกลางแปลงล้อมกำแพงเก็บเงิน ค่าตั๋ว 10 บาท เราจำได้ว่าเราอยากดูหนังเรื่องนั้นมากๆ มันคือหนังไทยเรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง (นิรัตติศัย กัลย์จาฤก, 2537) เรารีบเข้าไปนั่งรอหนังฉายพร้อมมะม่วงที่แม่เพื่อนให้มาเป็นของขบเคี้ยว แต่แล้วพอหนังฉาย มันกลับไม่ได้เริ่มด้วยหนังไทยเรื่องนั้น มันกลับเป็นหนังจีนเรื่องหนึ่ง มันพูดถึงชายใส่หน้ากากนักข่มขืนกับเรื่องราวการหักเหลี่ยมเฉือนคมเพื่อการจับตัวชายผู้นั้น ใช่! มันเป็นหนังอาร์ที่เห็นปทุมถันโดดเด้งชัดเจน ถ้าจำไม่ผิด ณ โมเม้นต์นั้นเราตื่นเต้นมากๆที่ได้เห็นได้ดูหนังเรต III ของฮ่องกงเป็นครั้งแรก แถมดูบนจอขนาดใหญ่ ที่สำคัญเราจำได้ว่าหนังสนุกมาก สนุกจนอยากจะดูมันอีกครั้งแต่ก็หาดูไม่ได้ซักที แล้วกาลเวลาก็ผ่านไปนานนม จนเมื่อโลกมีบิตทอร์เรนให้โหลดหนังดูได้และมีคนปล่อยหนังชุดนี้ทั้ง 5 ภาค มันเลยได้กลายมาเป็นการตามหาหนังในความทรงจำของเรา แต่เดี๋ยวก่อน! มันคงไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะเอาเข้าจริงหนังเรื่องที่เราตามหาอาจจะไม่ได้อยู่ในหนังชุดนี้เลยก็ได้! ดังนั้นแล้วนี่ก็คือการดูหนังบำบัดจิตที่มาพร้อมกับความท้าทาย…มหากาพย์สัดๆอะ

ผลที่ได้:
มันก็ยังไม่ใช่หนังเรื่องนั้นว่ะ!

พล็อตเรื่องยังคงเดิมเด๊ะ กล่าวคือมันมีเรื่องราวความรักระหว่างตัวเอกสองพระนางที่ต้องเข้าไปตามล่าฆาตกรโรคจิตนักข่มขืน โดยในภาคนี้ฆาตกรนิยมหญิงสาวในเครื่องแบบและหนังก็เพิ่มความเป็นคอมเมดี้เข้าไปมากขึ้นกว่าภาคแรกโดยได้ อู๋เจิ้นหวี่ มารับบทนักเลงตกอับผู้หลงรักตำรวจสาวที่รับบทโดย จูอิน (ที่หน้าตาอย่างกับอิซเบลล่า เหลียง)

แล้วภาคนี้มันก็พยายามจะโป๊ให้มากขึ้น โรคจิตให้มากขึ้น จนมันเป๊ไปเป๊มา ไม่เหมือนภาคแรกที่ยังมีความสนุกในส่วนของการวางแผนของฆาตกร หนังมันเลยไม่ผ่านในส่วนของเรื่องราวของฆาตกร แต่โชคดีที่ในเรื่องความสัมพันธ์ของพระนางนั้นมันโอเคกว่าภาคแรก เราชอบบทนักเลงหัวไม้ขี้แพ้แต่ต้องมารับภาระเลี้ยงดูลูกน้อยของอู๋เจิ้นหวี่มาก ด้วยสายตา ด้วยการแสดงออกมันส่งออกมาได้ดีจริงๆ กวนตีนก็กวนแบบสุดๆแต่พอจะน่าสงสารก็โครตน่าเห็นใจ ส่วนจูอินก็เซ๊กซี่เบาๆแบบแทบไมต้องโชว์อะไรเลย

อนึ่ง ขอโน๊ตอะไรไว้หน่อย เผื่ออาจจะเห็นอะไรมากขึ้นเมื่อดูครบ 5 ภาคแล้ว:

1. อาชีพของฆาตกร (ชาย): ในภาคแรกเป็นนักกฏหมาย ภาคนี้เป็นหมอฟัน
2. เหยื่อ (หญิง): ภาคแรกคือดาราโฆษณา ภาคนี้คือนักเรียน
3. คนแก้แค้น (หญิง): ดาราโฆษณาในภาคแรก ภาคนี้เป็นตำรวจ
4. ผู้ช่วยคนแก้แค้น (ชาย): มาเฟียพยายามกลับตัวในภาคแรก หัวหน้านักเลงขี้แพ้ในภาคนี้

ปล. เชื่อว่าหนังที่เราตามหาคงเป็นภาคต่อไป (ภาคสาม) ของหนังชุดนี้ ซึ่งถ้าไม่ใช่อีกก็จบกัน ก็ต้องตามหากันต่อไป (แลดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่จนน้ำตาจะไหล)

24/05/14 – The Kirishima Thing (Daihachi Yoshida/ Japan/ 2012) – 4.5/5

เก๋ดีจัง เราชอบทั้งพล๊อตของมันและการนำเสนอของหนัง พล๊อตสั้นๆของมันว่าด้วยผลกระทบของการหายไปของนักเรียนคนหนึ่งนาม คิริชิมา ที่ส่งผลกับนักเรียนหลายกลุ่มในโรงเรียน โดยเล่าเรื่องราวหลายๆเหตุการณ์ในเส้นเวลาเดียวกัน คาบเกี่ยวทั้งหมด 5 วัน ซึ่งไอ้การเล่าแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องใหม่ใดๆแต่มันเหมาะกับพล๊อตหนังแบบนี้มากๆ เพราะมันจะค่อยๆไปเผยเรื่องราวทีละเปลอะๆ ทั้งในแง่ของพล๊อตหลักอันว่าถึงตัวและความสำคัญของตัวคิริชิม่าเองกอปรกับสารอันหลากหลายที่ถูกส่งออกมาจากกลุ่มนักเรียนแต่ละกลุ่มในโรงเรียน อันเป็นการเพิ่มมิติในการเล่าเรื่อง “ชีวิตในโรงเรียนมัธยม” ให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เล่าเรื่องทั้งในเชิงรูปธรรมที่มีกลุ่มสาวสวยแรดๆ, เด็กเนิร์ดๆ, นักกีฬาป๊อบๆ และในเชิงนามธรรมอย่างการแอบรัก, ความริษยา, ความโกรธ ให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผลที่ได้คือหนังมันสนุกมากกกกกกกกกกกกกก

แน่นอน กลุ่มที่เราโดนกับมันมากๆคือไอ้กลุ่มเด็กเนิร์ดทำหนังสั้น กลุ่มที่ไม่ค่อยถูกเห็นค่าและไม่มีใครเข้าใจแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษา มันเลยทำให้ไอ้ฉากซอมบี้นั้นพีคสุดขีดคลั่งมากกกกกกกกก

ปล. มีฉากนึงชอบมากๆ ตัวละครมันคุยเรื่องหนังของทาเรนติโน่ ฝ่ายชายถามว่า “เธอชอบหนังเรื่องไหนของเขามากที่สุดหรือ?” ฝ่ายหญิงตอบว่า “เราจำชื่อหนังไม่ได้อะ ไอ้เรื่องที่มีคนตายเยอะๆน่ะ” ขำก๊ากเลย

25/05/14 – Godzilla (Gareth Edwards/ US/ Japan/ 2014) – 4/5

A Gojila’s fan service by Gareth Edwards, ฟินมาก ฟินเชี้ยๆ อันนี้บอกเลอ

ข้อแรก เราไม่ได้เป็นแฟนไอ้ไดโนเสาร์ยักษ์ตัวนี้หรอก แต่เราโตมากับมัน เรามีภาพจำของมันอยู่ ซึ่งหนังเรื่องนี่มันตอบโจทย์ในใจเราได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบมากๆ

ถัดมาคือ การโชว์แต่น้อยเพื่อสร้างความประทับใจยาวๆ อันนี้เหมือนกับที่เอ๊ดเวิร์ดทำใน Monster ฉากเปิดตัวโกจิล่านี่ทำเราน้ำตาเล็ดเลยจริงให้ตายเถอะ และเราก็ตื่นเต้นมากๆกับฉากการต่อสู้ว๊อบๆแวมๆแล้วค่อยมาทิ้งบอมบ์แบบเต็มๆในช่วงท้ายๆ (อันทำให้เราชอบมากกว่า Pacific Rim)

เสริมจากบรรทัดบนคือการเคลื่อนของกล้องเพื่อเปิดเผยจุดประสงค์บางอย่าง เช่นไอ้ฉากเปิดตัวนี่ชัดเจนที่กล้องแพนมาเห็นตีนก๊อตจิ, การแพนภาพซึนามิยาวไปเห็นการยิงปืนไฟแล้วเห็นพุงโกจิล่าหรืออย่างฉากก่อนพ่นลำแสงไฟฉากนั้น เท่มาก

แต่ก็ไม่ปฏิเสธถึงความเช๊ยเชยของตัวละครมนุษย์ในเรื่อง โดยเฉพาะในครึ่งเรื่องแรกที่ทำไปทำมาพอก๊อตจิโผล่มาปั๊บ เหล่าตัวมนุษย์ก็หมดความหมายไปทันที (แต่ก็ไม่ถึงกับติดอะไรนะ เป็นประมาณว่าเราไม่คิดจะสนใจไปเองตะหาก)

นักแสดงชื่อดังๆก็ไม่รู้จะมาทำไม บิโนชมาเพื่อให้เราโกรธ(ตายเร็วเกิ้นนนน), เอาฮอกกิ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์นี่นะ!!!!, โอวเซ่นมาวิ่งๆตื่นๆ แต่ที่เหี้ยสุดคือวาตานาเบกับหน้าเหม็นขี้ตลอดเวลา

สรุปง่ายๆคือ เป็นความชอบส่วนตัวล้วนๆ

26/05/14 – หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสูญ (Danny Pang/ ไทย/ 2002) – 4.5/5

จำได้ว่าเราชอบหนังมากทีเดียวเมื่อตอนดูในโรงเพราะมันฉีกแนวออกจากหนังไทยยุคนั้นทั่วไป มันเป็นหนังแบล็อคคอมเมดี้ไทยเรื่องแรกๆเลยมั๊งที่เราได้ดูอันว่าด้วยคู่หนุ่มสาวที่ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว พวกเขาไม่รู้จักกันมาก่อนเลยใช้โอกาสก่อนตายนั้นทำอะไรด้วยกันให้สุดเหวี่ยงไปเลย จริงๆมันก็คือ Natural Born Killers ในแบบที่ไม่ได้มีการตั้งใจฆ่า แต่จัดเต็มไปด้วยเซ็กซ์ ยา การพนันและความรุนแรง

พอได้ดูอีกรอบก็พบว่าหนังมันยังคงมีอะไรน่าสนใจมากมายโดยเฉพาะบริบทของสังคมในยุคนั้นผ่านข่าวในทีวีในหนังอันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการมีข่าวเรื่องที่ ป.ป.ง. ตรวจสอบทรัพย์สินของสื่อฯในปี 2545 ไอ้หนังเรื่องนี้มันเลยเหมือนเป็นคำท้าทายต่อการตรวจสอบที่ไม่ถูกต้องนั้นเพราะไอ้สิ่งที่ตัวละครมันทำทั้งพนัน, ยาเสพย์ติดหรือแม้แต่เซ็กซ์นั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงินที่ต้องถูกตรวจสอบ แต่นี่มันคือการกระทำผ่านสื่ออย่างภาพยนตร์ ดังนั้นแล้วมันจึงทำให้เกิดอาการสองแง่สองง่าม

หรือกับตัวละครตัวตำรวจในหนังที่อายุ 42 ปี ก็ชัดเจนว่าถอดแบบออกมาจาก ป.ป.ง. ที่ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2542 ตำรวจที่คิดว่าตนฉลาดหลักแหลมกว่าใครทั้งๆที่จริงๆแล้วกลวงโบ๋แต่เสือกมีอำนาจ

สุดท้ายหนังก็มาพีคสุดๆในบทสรุปของหนัง ฉากกระโดดตึกอันเป็นการป่าวประกาศว่าเรา(สื่อ)มีอิสระมากพอที่จะตัดสินใจ(นำเสนอสิ่งใด) ซึ่งพวกคุณไม่มีสิทธิ์จะมาก้าวก่าย!

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการพยายามดูด้วยสายตาที่ให้ใกล้กับมุมในยุคนั้นมากที่สุด

ปลล. บอกตามที่คิดมาตลอดตั้งแต่ดูในโรงว่า เฟรช อริศรา วงษ์ชาลี เป็นผู้ทำให้หนังสมบูรณ์

26/05/14 – The Guillotines (Andrew Lau/ China, Haiti, HK/ 2012) – 2.5/5

– เหมือนดู The Last Samurai ควบรวมกับ The Prince of Egypt ที่ลงท้ายด้วยความเป็นชาตินิยมแบบคลั๊กๆ

– หนังได้ ปีเตอร์ ชาน มาโปรดิวซ์ ได้แอนดรู เลา มากำกับ แต่เอ่อออ ทำไมเราไม่รู้สึกรู้สากับหนังเลยหว่า?

– โอเคว่าหนังมันสนุกดี แต่มันกลับไม่มีอะไรให้จดจำอะ หนังแบบนี้ซักพักก็จะลืม

– นั่งคิดไปคิดมาว่าถ้าทำออกมาเพื่อเปิดตลาดจีนก็ถือว่าโอเค แต่ถ้ามากกว่านั้นเราว่าคงไม่ได้

29/05/14 – 71 Fragments of a Chronology of Chance (Michael Haneke/ Austria, Germany/ 1994) – 5/5

หนังปิดไตรภาคแห่งความเลือดเย็นของเสด็จพ่อฮาเนเก้ คุงพ่อผู้เหี้ยมโหดที่เราหลงรัก

หนังประกอบไปด้วยฉากทั้งหมด 71 ฉากที่ไม่ต่อเนื่องและไม่เกี่ยวเนื่องกันโดยตรงอันประกอบไปด้วยเด็กชายชาวโรมาเนียผู้ลี้ภัยเข้าออสเตรียแบบผิดกฏหมายแล้วอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน, ชายคริสเตียนวัยกลางคนมีอาชีพเป็นคนขนเงินส่งแบงค์, ชายชราละเหี่ยใจแสนเหงา, คู่รักไร้ลูกที่กำลังจะได้รับบุญธรรมเด็กและนักศึกษาเนิร์ดๆเก็บกด ประกอบพ้องไปด้วยการรายงานข่าวในหน้าจอทีวีเกี่ยวกับการประท้วง, สงครามและผลกระทบในประเทศต่างๆรวมไปถึงการกล่าวหาว่าตุ๋ยเด็กของไมเคิล แจ็คสัน!!!!

ดูจบก็อื้ออึงไปตามระเบียบโรงเรียนฮาเนเก้ หนังมีหลายส่วนประกอบกันอันว่าด้วย “เหตุของปัญหาที่ไม่สามารถยืนยันได้” อันได้แก่ศาสนา, สงคราม, ความรุนแรง, ครอบครัว, สังคม, ความรักรวมถึงเทคโนโลยี ทั้งหมดทั้งมวลอาจเกี่ยวข้องพ้องกัน(แต่อีกด้านก็อาจจะไม่) ศาสนาเป็นเหตุของสงคราม? สงครามก่อเกิดความรุนแรง? ครอบครัวคือรัก? ความรักชนะทุกสิ่ง? สังคมบ่อเกิดความรุนแรง? เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนมนุษย์? หนังตั้งคำถามผูกพันเหตุเหล่านี้ด้วยเงื่อนหลวมๆแต่กลับคลายได้ยากผ่านการลี้ภัยเอย, ข่าวในหน้าจอทีวีเอย, การตีปิงปองกับเครื่องยิงอัติโนมัติอันไม่มีจุดสิ้นสุดเอย, การต่อจิกซอรูปไม้กางเขนเอย, การบอกรักอย่างขมขื่นบนโต๊ะอาหารเอย หรือแม้กับตอนจบของหนังเอย

แล้วไอ้ปัญหาของหนังก็หนีไม่พ้นกับการไปกระทบกับคนชั้นกลาง ชนชั้นที่ไม่ยี่หระกับข่าวในทีวี ชนชั้นที่เชื่อเรื่องความสมบูรณ์แบบของสถาบันครอบครัวอันรักใคร่กลมเกลียว ชนชั้นที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายจนมองไม่เห็นความยากลำบาก หนังพาเราไปพบกับการค่อยๆล่มสลายลงทีละนิดของคนเหล่านี้ ดั่งการตบหัวเราเน้นๆที่ละฉาดให้กับความโง่เขลาเบาปัญญาของเราเอง ด้วย “ผล” ที่หา “เหตุ” ไม่ได้

ฉากจบนี่เราเดาได้อยู่แล้วล่ะว่าเสด็จพ่อต้องมาไม้นี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่ามันยังคงรุนแรงและหนักหน่วงมากๆอยู่ดีเมื่อเราได้เข้าใจในสิ่งที่หนังมันส่งมา จนเราเองยังแอบเห็นด้วยกับวิธีที่ตัวละครมันทำเลย

ปล. ตอนนี้ก็เหลือแค่ Time of the Wolf (2003) ของเสด็จพ่อเรื่องเดียวที่ยังไม่ได้ดู

31/05/14 – X-Men: Days of Future Past (Bryan Singer/ US, UK/ 2014) – 4/5

– ดูไปก็รู้สึกว่าบทมันดีจังเลยว่ะ ทั้งในแง่ของการรวบไตรภาคแรกกับหนังชุดหลังที่ออกมาก่อนหน้า (First Class) ที่ทำให้คนดูสนุกในการโยงโน่นนี่นั่นของความสัมพันธ์และความเป็นไปในช่วงที่ขาดหายไปในแต่ละตัวละคร ได้ลองลากเส้นต่อเนื่องจาก past ไปถึง future ได้สนุกดี

– อีกส่วนที่ดีมากจากบทคือเส้นเรื่องของมันเองที่มีกลิ่นการเมืองคุกรุ่นมาตั้งแต่ภาคก่อน ภาคที่แล้วคือวิกฤษการณ์คิวบา ภาคนี้พูดยันตั้งแต่ JFK ถึงสงครามเวียดนาม กลายเป็นกลุ่มหนังฮีโร่อิงการเมืองอเมริกาไปอีกกลุ่มหนึ่งผ่านประเด็นการเมืองอันเป็นประเด็นเดียวกันกับหนังภาคก่อน เพียงแต่ภาคนี้มันทำให้ชัดยิ่งขึ้นผ่าน 3 ตัวละครหลักผู้มีเป้าหมายเดียวกันแต่ต่างกันตรงทางที่เดิน อีริคคือผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ด้วยวิถีทางแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน, ชาร์ลเชื่อในเรื่องโลกอันสวยงามที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยหลักแห่งสันติและมิสทีกที่อยู่ระหว่างชายทั้งสองนั้น อันเป็นการสะท้อนถึงเรื่องของความแตกต่างและสิทธิ์ที่พึงมี

– กล่าวอีกแง่ มันเป็นเรื่องของซ้ายที่พยายามต่อสู้ต่อกรหลากหลายรูปแบบกับพวกขวา เพียงแต่ซ้ายที่ว่ามันมีหลายกลุ่ม

– สำหรับในฉากจบ แง่หนึ่งเรารู้สึกว่ามันดูง่ายไปนะ มันดูส๊วยสวยและเล่นโดดข้ามมาแบบนี้เลย แต่อีกแง่ก็คิดว่ามันคงเอาเส้นเรื่องที่อยู่ในหัวอีวูร์ฟเวอรีน(ที่ถูกเปลี่ยนใหม่หมดและหนังไม่ได้เล่า)ไปสร้างเป็นพล๊อตหนังภาคอื่นๆต่อแน่เลย

– ไม่มีอะไรจะน่าจดจำมากไปกว่าการที่ เจน ลอร์พูดเวียดนาม เลิฟฟุดๆ รองลงมาคือการแสดงของฟาเบนเดอร์ กราบบบบบ

– ฉากควิกซิลเวอร์เจ๋งมาก ชอบมาก เป็นตัวละครขโมยซีนและเชื่อว่าภาคหน้ามึงมาแน่ๆ

– รำคาญวูร์ฟเวอรีนมาก อันนี้บอกเลออออออ

31/05/14 – My Magic (Eric Khoo/ Singapore/ 2008) – 3/5

 นี่น่าจะเป็นงานของ อีริค คู ที่เราชอบน้อยที่สุด แม้ว่ามันจะมีทุกอย่างที่เป็นลายเซ็นของเขาทั้งประเด็นเรื่องครอบครัวในสังคมอันหลากหลายมากๆของสิงคโปร์และความรักที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ในเรื่องนี้มันพูดถึงคนเชื้อสายอินเดียในสิงคโปร์ อดีตนักมายากลขี้เมาหยำเปเมียทิ้งกับลูกชายเด็กเรียนติ๋มๆคนหนึ่งในเรื่องราวของการค่อยๆเรียนรู้และทำความเข้าใจระหว่างกัน ค่อยๆยอมรับอดีตและปัจจุบันไปพร้อมๆกันเพื่อการก้าวเดินต่อไปอันเป็นประเด็นที่สากลและแข็งแรงเพียงแต่ปัญหาของหนังที่มันขาดไปคือความระเมียดระไมที่เราหลงรักในหนังเรื่องอื่นๆของเขา การค่อยกร่อนเซอะความเจ็บปวดทีละนิดๆที่ทำให้เราชอบหนังของเรา แต่มันกลับไม่มีอยู่ในเรื่องนี้ หนังมันเดินหน้าตรงไปดื้อๆเพื่อที่จะไปพบบทสรุปง่ายๆ

ตอนนี้ก็เหลือแต่ Tatsumi เรื่องเดียวในกระบวนหนังยาวของเขาที่เรายังไม่ได้ดู