Mee Pok Man

มีนา’14 กับหนังที่ได้ดู

02/03/14 – Machete Kills (Robert Rodriguez/ US, Russia/ 2013) – 1.5/5

ใจนึงก็คิดและเชื่อว่าหนังมันคงต้องการล้อหนังเกรดบีไปให้สุดทางเลย ให้ไปไกลกว่างภาคแรกด้วย กล่าวคือไม่ใช้แค่ล้อกับความคัลล์ความสุดโต่งของตัวเรื่องหรือตัวหนังแต่ไปล้อกับความเป็นภาคต่อของหนังเหล่านั้นไปด้วย ให้มันเลยเถิดไปแบบสุดทางเลย ซึ่งมันก็บันเทิงดีแหละเสียแต่ว่ามันไม่มีอะไรให้มาจดจำมากนักเหมือนกับภาคแรกที่มันยังมีเรื่องของคนชายขอบระหว่างพรมแดนให้คิดต่อยอดได้บ้าง แต่เอาเหอะ หนังมันทำเอามันส์ ดูจบแล้วก็บ๊ายบายกันไป

05/03/14 – 20 Feet From Stardom (Morgan Neville/US/ 2013) – 3/5

ไม่ทันได้พิสูจน์ก่อนประกาศผลว่าเหตุใดหนังเรื่องนี้ถึงได้กระชากออสการ์ไปจาก The Act of Killing พอได้ดุแล้วก็ เออ! เมิงเอาไปเถอะ เหมาะกับออสการ์แล้วล่ะ ที่ๆ The Act of Killing ไม่ควรไปเกลือกกลั้วด้วย (เปลืองตัว)

หนังมันดีในมาตราฐานของมันแหละ แต่ดูจบแล้วสิ่งที่น่าจดจำกลับไม่ใช่สิ่งที่หนังมอบให้ มันคือดราม่าของเหล่านักร้องแบ็คอับเสียงสวรรค์ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองสุดขีด (’70-’80) ที่ได้ร่วมงานหรือถูกดึงตัวไปร่วมกับนักร้องชื่อดังมากมาย จนมาถึงยุคหลังที่ให้ค่านักร้องเหล่านี้ลดลง อีกด้านหนึ่งหนังก็ไปสะท้อนเรื่องการเมืองผิวสี, ชีวิตในวงการและตัววงการเพลงอเมริกาเองอันว่าด้วยปัจจัยของการเป็นนักร้องโซโลที่ไม่ใช่แค่เสียงร้อง แม้บางคนจะเสียงสวรรค์เกินพรรณาได้ก็ตาม

ส่วนตัวหนังมันกลับมาอยู่ในความสนใจของเราอีกครั้งก็ตั้งแต่การโผล่มาของ Judith Hill ที่เคยชอบและรู้จักเธอครั้งแรกในงานศพไมเคิล แจ็คสัน (เธอคือผู้ร้องเพลง We Are The World ในงานนั้น) ที่ตอนนั้นเราก็เพิ่งมารู้ว่าเธอเป็นนักร้องแบ็คอับแล้วก็สงสัยว่าทำไมเสียงดีขนาดนี้เธอถึงไม่ดังเสียที? ฉากที่เจ็บคือฉากที่เธอไปเป็นแบ็คอับให้ ไคลี่ มิน็อก (ในโชว์อะไรซักอย่างหลังจากงานศพไมเคิล) แล้วเสือกมีคนจำได้ทั้งๆที่เธอรวบผมให้ตรงที่สุดแล้ว! แต่ก็นั้นแหละ หนังก็พาคนดูไปซาบซึ้งกับเธอและเหล่าแบ็คอับคนอื่นๆได้แบบสวยงาม

ปล. อันนี้ไม่เกี่ยวกับหนัง แต่เราชอบการเต้นในยุค 70 จังเลย สวิงกันสุดเหวี่ยงดี แล้วเราก็ได้ทราบว่าไอ้ที่เต้นๆกันแบบแนวๆสมัยนี่น่ะ เค้าเต้นกันมาเป็นชาติแล้ววววว

06/03/14 – Zombie Hunter (K. King/ US/ 2013) – 0.5/5

ทุกอย่างในโปสเตอร์หรือตัวอย่างมันหลอกเราหมดเลย จะดูเทรโฮหรือ? แม่งมาแป๊ปเดียวให้โดนฆ่า! จะดูเอ็กซ์ๆตูมๆหรือ? เสียใจ มากที่สุดคือชุดชั้นใน! แถมเฮียกมาก แล้วเลือดสาดละ? อันนี้มีเต็มๆแต่ เอ่อ! เลือดมันสีชมพูนะเธอว์ ขิขุดี สาดดดดดดด

หนังทำมาหลอกเอาเงิน แต่มาหลอกเอาเวลากูไป กูผิดเองแหละที่ดู ขอโทษนะ สาดดดดดดดด

08/03/14 – Gatchaman (Toya Sato/ Japan/ 2013) – 3.5/5

Live action จากอนิเมะปี 1972 เขียนบทโดย โยซูเกะ วาตานาเบ้ ผู้เคยเขียนบทให้กับ Gantz และ 20 Century Boys ภาคคนแสดงที่ถือว่าทำได้ดีทีเดียวกับสองเรื่องหลังและถอดประเด็นจากอนิเมะออกมาได้น่าชม ส่วนเรื่องนี้แม้เราจะไม่เคยอ่านงานดั่งเดิมมาก่อน แต่ก็เชื่อว่าวาตานาเบ้น่าจะถอดความออกมาได้ดีอีกครั้งเพราะเอาเข้าจริงแม้จะเป็นหนังฮีโร่กู้ชาติ มันกลับมีซีนแอ็คชั้นจริงๆแค่สองฉากแค่นั้น ส่วนที่เหลือมันคือการมุ่งประเด็นเรื่องการเมืองและไดเลมม่าที่เราโดนกับมันมากทีเดียว

ในปี 2050 โลกถูกรุกรานโดยกลุ่มองค์กรที่เรียกตัวเองว่า กาแลคเตอร์ ผู้มีพลังพิเศษ ในขณะเดียวกับที่มนุษย์ก็ได้ค้นพบหินวิเศษที่คนหนึ่งในแปดล้านคนเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมพลังนั้นได้ เราเรียกพวกเขาว่า รีเซ็ปเตอร์ ผู้ที่สามารถมาต่อกรกับพวกกาแลคเตอร์ได้ โดยมีกัน 5 คนในนาม Gachaman

หนังเดินเรื่องไปสองส่วนคู่ขนานกัน หนึ่งคือการทำลายล้างกาแลคเตอร์และสองคือการเปิดอดีตของตัวละครที่มาบรรจบกันในช่วงท้าย สะท้อนผ่านเกมการเมืองของมนุษย์, การหลอกใช้เป็นเครื่องมือ, การส่งผ่านความแค้นที่ใช้เป็นอาวุธในการทำลายล้างหรือกับความแตกแยกของกลุ่มที่ต้องเลือกระหว่างความแค้น(ในกรอบที่โดนควบคุม)หรืออิสระเสรี อันเป็นตัวสะท้อนทั้งเรื่องของชนชั้นและการวิภากษ์ความเป็นไปของสังคมได้ดีมากๆ

แม้ช่วงท้ายหนังจะดร๊อปลงไปหน่อย แต่พอดูจบก็มานั่งคิดๆถึงอนิมเะหรือหนังที่มาจากอนิเมะของญี่ปุ่นว่าทำไมมันร่วมสมัยจัง

08/03/14 – The Square (Jehane Noujaim/ Egypt, USA/ 2013) – 5/5

รุนแรงหนักหน่วง จุกเสียดและสิ้นหวัง!

หนังพาคนดูไปตามทามไลน์การปฏิวัติของอียิปต์ตั้งแต่การประท้วงขับไล่ ปธน. มูบารัค ณ จัตุรัสทาห์รีร์กลางกรุงไคโร อันคือสัญลักษณ์ทางพื้นที่ๆผู้ชุมนุมใช้ในการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม พวกเขาชนะแต่ก็นำไปสู่การปกครองโดยทหารอยู่พักหนึ่งก่อนเกิดการเลือกตั้งที่ได้ ปธน. คนใหม่ มอซี่ ผู้มาจากกลุ่มมุสลิมบราเดอร์ฮู๊ดและต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐศาสนา พวกเขาออกมาอีกครั้งเพื่อขับไล่มอซี่ จนนำไปสู่การรัฐประหารของทหารที่ยังคงเกิดความไม่สงบตราบจนปัจจุบัน

ดูไปก็อดไม่ได้ที่จะเอามาแนบเคียงกับการเมืองบ้านเราที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้แต่ส่งเสียงเบาๆผ่านปากที่โดนปิด โดนขโมยสัญญะต่างๆของความเป็นประชาธิปไตยให้แปรเปลี่ยนไปจนผิดรูป เป็นคนตัวเล็กๆที่เป็นได้แค่เบี้ยในกระดานผืนใหญ่โดยที่คนตัวใหญ่ๆเค้าคุยกันหลังฉากไปหมดแล้วและเจ้าของอำนาจตัวจริงก็ไม่ได้แคร์อะไรเว้นเสียแต่ผลประโยชน์ที่ทำไว้กับคนอีกกลุ่ม ซึ่งนี่แหละที่มันทำให้เราสิ้นหวังและตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันจะมีวันนั้นที่เราเรียกร้องไหม? ที่ไม่ใช่การใช้อำนาจอื่นมาแทรกแซงอีกครั้ง (และอีกหลายๆครั้ง)

มันมีตัวละครหนึ่งที่เราสนใจมากๆคือคนที่มันก็เรียกร้องประชาธิปไตยนะ แต่มันก็เห็นด้วยกับกลุ่มก้อนของตัวเองที่ซึ่งขึ้นมามีอำนาจด้วยความชอบธรรม มันมีไดเลมม่าที่ต้องเลือกเดิน ซึ่งเราว่าภาวะนี้มันซับซ้อน น่าสนใจและดูจริงมากๆในภาวะสังคมร่วมสมัยแบบนี้

ปล. สรุปในบรรดาหนังสารคดีชิงออสการ์ปีนี้ อี 20 Feet from Stardom แม่งด้อยสุดสำหรับเรา

LoW-Cover10/03/14 – DPRK: The Land of Whispers (Chrystian Cohen/ Vietnam/ 2013) – 3.5/5

เพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของผู้นำประเทศเกาหลีเหนือ คอมจองอึน ที่ได้ผลคะแนนจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น 100% เต็มแบบไม่มีการงดใช้สิทธิ์เลยซักคนเดียว! จึงเป็นเวลาอันเหมาะเหม็งที่เราจะเอาสารคดีที่ว่าถึงการท่องเที่ยวในเกาหลีเหลือเรื่องนี้มาดูกัน

ข้อดีคือหนังมันพยายามมองด้วยสายตาของคนที่ไม่รู้อะไร เป็นนักท่องเที่ยวที่แค่อยากไปพิสูจน์ในประเทศปิดที่มีชื่อเลื่องลือไปต่างๆนาๆ ค่อยๆเริ่มสังเกตสังกาแล้วก็ตั้งคำถาม แน่นอนเราจะได้เห็นความ exotic มากมายแต่ก็เป็นภาพที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมตลอดเวลาของเจ้าหน้าที่ มีการพยายามฉีกกฏหรือแหกคอกไปบ้างเท่าที่ทำได้เพื่อตอบคำถามต่างๆที่สงสัยเหล่านั้น (ที่ซึ่งก็ไม่ได้ “กล้า” มากเท่าที่คิดเหมือนอย่างใน The Red Chapel ซึ่งก็แน่ละ มันเสี่ยงและหมายถึงชีวิตเลยนะนั่น) ก่อนจะมาสรุปด้วยความคิดของการทำความเข้าใจในประเทศนี้แบบมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกว่ามันจบแบบมองโลกสวยไปหน่อยเพราะมันกลับไปสรุปประเด็นอื่นที่ใม่ใช่ประเด็นหลักของประเทศอันว่าถึงปัญหาของตัวผู้นำประเทศเอง

อย่างไรก็ตาม ดูจบแล้วก็อยากไปเที่ยวเกาหลีเหนือซักครั้งบ้างเหมือนกันถ้ามีโอกาส

ดูหนังได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=oULO3i5Xra0

(กำลังสงสัยอยู่ว่าทำไมมันเป็นหนังของเวียดนามตามข้อมูลของ IMDB)

11/03/14 – Jailbait (Jared Cohn/ US/ 2013) – 1/5

หนังไม่มีอะไรมากไปกว่าการโชว์สรีระอย่างเปิดเผยของซ่าร่า มาลากุล เลน ที่มาเพื่อการเป็นวัตถุของการโลมเลียด้วยการจ้องมองอย่างเต็มคราบ “ซ่าร่านมใหญ่!” “ซ่าร่าไร้ขน!” ดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าตัวเรื่องของหนังเอง ภายใต้พล็อตแห่งความตายด้านที่ว่าด้วยเรื่องของคนคุกอันแสนแหนงหน่าย

มีหนังทั้งเรื่องให้ดูที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=7nSOWigDmdA แต่เอาจริงๆลงไปอ่านในคอมเม้นต์หรือไปอ่านใน IMDB พบว่าสนุกกว่าตัวหนังอีก

13/03/14 – Queen of Underworld (Sherman Wong/HK/ 1991) – 3/5

บังเอิญเจอในยูทูปและด้วยสันดานส่วนตัวที่พอเห็น เอมี่ ยิป ปุ๊บกูรีบเอามาดูเลย ==”

หนังมันเล่าเรื่องของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในโลกใต้ดิน ใช้อำนาจของเพศสภาพของเธอควบคุมฝ่ายชายให้เป็นเครื่องมือในความอยู่รอด ฝ่าฝันปัญหารายล้อมกับซ่องที่เธอต้องดูแล รวมไปถึงการดูแลลูกสาวเพียงคนเดียวของเธอก่อนจบด้วยโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าในช่วงท้าย

เอมี่แทบไม่ได้โชว์อะไรตามที่หวังไว้เลย เพราะเอาเข้าจริงมันคือหนังที่โชว์การแสดงของเธอมากกว่าและเธอก็ทำได้ดีมากเสียด้วย เธอแบกหนังคนเดียวทั้งเรื่องฝ่าฝูงผู้ชายที่พร้อมจะกดทับเธอให้ต่ำอยู่ตลอดเวลา จากหญิงสาวสวยสดใสกลายเป็นหญิงกร้านเงียบขรึม อาจจะด้วยพล๊อตแบบนี้ด้วยกระมั๊งที่ช่วยทำให้เธอยิ่งเด่นผ่านการเขียนบทโดยหวังจิ้งในตำนาน ที่มีอู๊ม่งต๊ะมาร่วมแจม

14/03/14 – โคลิค เด็กเห็นผี (พัชนนท์ ธรรมจิรา/ ไทย/ 2549) – 3/5

ตื่นเต้นดีแม้ว่ามันจะดู Final Destination ไปบ้างแต่โดยรวมแล้วหนังสนุกดี คงต้องชมความเยี่ยมในการคุมองค์ประกอบต่างๆของหนังที่มาพร้อมกันในอันจังหวะพอดิบพอดี และแม้ตัวเรื่องมันจะว่ากันง่ายๆซื่อๆตรงๆไปหน่อยแต่การได้เห็นหนังที่พูดถึงหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกทำให้ลืมอย่าง 14 ตุลา 2516 แบบนี้บ้างก็ทำให้เราตื่นเต้นได้อยู่ดี แม้ว่ามันจะเบาหวิวและไม่ได้ส่งผลสะเทือนใดๆก็ตาม

อนึ่ง คิดถึง พิมพ์พรรณ ชลายคุปต์ จังเลย

14/03/14 – The Hunt (Thomas Vinterberg/ Denmark, Sweden/ 2013) – 2/5

ดูแล้วอยากจะพ่น hate speech ใส่ตัวละครแวดล้อมตลอดเวลา กูค่อยๆกลายร่างเป็นดาร์คเวเดอร์หายใจฟื๊ดๆแรงๆ ก่อนที่จะมาเริ่มเข้าใจว่าทำไมมันต้องมีคนถือปืนสงครามไปถล่มโรงเรียนอย่างในโคลับไบน์, เริ่มเข้าใจว่าทำไมเราถึงชอบฉากเอาปืนลูกซองยิงถล่มครอบครัวแสนสุขบนโต๊ะอาหารในหนัง Martyrs เหลือเกิน และก็เริ่มจะเฉยๆกับการเห็นร็อดไวเลอร์เข้าไปขย่ำคอเด็กตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการที่หนังมันเดินมาแบบนี้แต่เสือกเลือกจบแบบนี้จึงทำให้เราโมโหหนังมากๆ จะว่ามันเป็นการล้อกับอารมณ์ดิบภายในของคนดูแม่งก็ไม่ใช่เพราะถ้ามึงจะเอาแบบนั้นจริงๆมันควรจะตัดจบก่อนซีนสุดท้ายไปแล้ว อย่างนั้นซิถึงเรียกได้ว่าอำมหิตและกูเห็นด้วยมากๆ

อนึ่ง หนังไม่เหมาะกับคนเกลียดเด็ก เพราะดูแล้วจะอยากฆ่าเด็ก ฆ่าไอ้ความอินโนเซ้นต์ทั้งหลายทั้งมวล ใช่! กูคือคนเกลียดเด็ก!!!

15/03/14 – Overhead 2 (Felix Chong, Alan Mak/ HK, China/ 2011) – 3.5/5

หนังเป็นภาคสองก็จริงแต่ดูเหมือนว่ามันถูกสร้างให้เป็นหนังคนละเรื่องกัน ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน เพียงแต่ใช้เรื่องการปั่นหุ้นมาเป็นประเด็นร่วมแล้วแยกเรื่องราวออกเป็นสองเรื่อง แยกเป็นสองเหตุการณ์ในสองภาคที่ใช้ตัวละครเดียวกันแสดง อันเป็นวิธีที่เก๋กู๊ดดี

ในพาร์ตของดราม่าเราชอบภาคแรกมากกว่า แต่ในส่วนของความสนุกตื่นเต้นนั้นภาคนี้ทำได้ดีกว่าตามสไตร์หนังฮ่องกงเฉือนคมที่เราคุ้นเคย และก็ไม่น่าเชื่อว่าการปั่นหุ้นในหนังจะสามารถทำให้ไอ้คนไม่เล่นหุ้นอย่างเราตื่นเต้นไปกับมันได้ด้วย

ภาคสามจะฉายในปีนี้ อยากรู้ว่าหนังจะเล่าอย่างไร?

15/03/14 – Monsters (Gareth Edwards/ UK/ 2010) – 4.5/5

เอามาดูเพื่อการเตรียมพร้อมก่อนดู Godzilla ของผู้กำกับเอ็ดเวิร์ด ชอบมากทีเดียว หนังมีสองส่วนที่น่าพูดถึงคือ

1. หนังสะท้อนภาพการการสร้างปีศาจขึ้นมาใช้เพื่อรองรับผลประโยชน์ ในที่นี้คือสัตว์ประหลาดที่ตกลงมาพร้อมกับยานของนาซ่าสู่ประเทศในอเมริกาใต้ กล่าวคือมันเป็นการสร้างภาพสะท้อนของก่อการร้าย (หรือเก่าไปหน่อยก็ คอมมิวนิสต์) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการและดำเนินทางนโนบายของประเทศมหาอำนาจในที่นี่คืออเมริกา ปิดปากปิดหูคนในประเทศตัวเองด้วยกำแพงสูง สร้างความชอบธรรมด้วยพรอบพากันด้าผ่านสื่อ ตัวละครหลักทั้งสองคือคนอเมริกันที่พลัดหลงอยู่ในดินแดนต้องห้าม ดินแดนที่เชื่อว่าติดเชื้อร้าย ค่อยๆสะท้อนมุมมองคนนอกที่เข้าไปคลุกคลีอยู่วงใน ได้รับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยมีการเปิดเผย

2. ผลกระทบของ ปชช ในประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของการสร้างปีศาจนั้นผู้ไร้ปากไร้เสียงหนีเข้าป่าเข้าพง แต่บ้างก็หาประโยชน์จากการสร้างปีศาจนั้นผ่านรูปแบบของทุนนิยม ที่ไอ้ตัวละครทั้งสองก็เข้าไปรับรู้ในปัญหาที่ชาติตัวเองก่อ ซึ่งที่เจ็บคือมันค้นพบว่าสิ่งที่ชาติมันทำกลับไม่ได้สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย คนนึงเดินตามรอยความสำเร็จความความฝันแต่ก็ล้มเหลวในชีวิตครอบครัวอีกคนพยายามหนีให้ห่างออกจากชีวิตที่เป็นอยู่ อันสะท้อนความล้มเหลวของความฝันแบบอเมริกัน

ซีนเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดในช่วงท้ายที่เป็นซีนคีย์ของหนังนั้นน่าขนลุกมาก มันตอบทุกอย่างได้อย่างหมดจด ส่งมอบความเศร้าได้อย่างเต็มแรง

ตอนนี้ยอมรับเลยว่าคาดหวังกับ Godzilla ไปแล้ว

อนึ่ง มันยังคงแทนค่าสัตว์ประหลาด้วยผีทักษิณหรือผีเสื้อแดงได้เหมือนกันและแซ่บพอๆกันเบย

15/03/14 – Lan Kwai Fong 3 (Wilson Chin/ HK/ 2014) – 1/5

ดูตามหน้าที่เพราะไหนๆก็ดูทั้งสองภาคมาแล้ว บอกตามตรงกูงงมากว่าทำไมมึงถึงสามารถทำมันออกมาได้ถึง 3 ภาคทั้งๆที่แม่งไม่มีอะไรให้น่าจดจำเลยจริงๆแม้ว่ามันจะเป็นหนังโชว์นางงามนางแบบก็ตาม

อย่างที่รู้ๆกันว่ามันเป็นหนังที่ว่ากันถึงกลุ่มวัยรุ่นหุ่นเลิศหล่อสวยอย่างกับออกมาจากนิตยสารแฟชั่นในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในฮ่องกง หลานไคฟง ตามชื่อเรื่องนั้นแหละ ทุกภาคมันพูดถึงเรื่องความรัก ภาคแรกคือรักแบบงงๆของคนเหี้ยๆที่อยู่ดีก็กลายไปเป็นคนดีแบบค้านสายตา ภาคสองเป็นรักข้ามชนชั้นที่มีฉากจบคัลล์ที่สุดในปรโลก ส่วนภาคนี้มันคือรักที่แตกรูปไปหลายๆแบบ ที่เด่นๆหน่อยก็คือรักระหว่างคนที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของสังคมของสาวหน้าแย่กับหนุ่มเนิร์ดที่หนังก็ยังให้ภาพกดทับของคนประเภทนี้อยูดีด้วยการมอบสเตอริโอไทป์อันน่าเบื่อให้ ส่วนอีกคู่คือเรื่องของการ “แอบรักแต่ไม่บอกเธอ” พยายามจะมุ๊งมิ๊งกันอยู่ตลอดเวลาจนกูอยากจะตบแม่งให้คว่ำทั้งคู่และก็ไอ้คู่นี่แหละที่มากับฉากจับคัลล์ๆอีกรอบ ภาคที่แล้วมีเดินถอยหลัง ภาคนี้แม่งเล่นเดินและโหนสลิงกันเลยทีเดียว

สรุปคือหนังยังคงความเพี้ยน ความเพ้อเจ้อได้อย่างคงเส้นคงวามาจนถึงภาคสาม หวังว่าจะไม่มีภาค 4 อีกนะ กูไม่อยากตามดูแล้ววว

ปล. ภาคนี่มีเสร่อไปเพ้อเจ้อที่เกาหลีด้วยนะเว้ยเฮ้ย

17/03/14 – In The Mood For Love (Wong Kar Wai/ HK, France/ 2000) – 5/5

จบออสการ์เราก็มาตามเก็บหนังหว่องให้ครบแบบเรียงเรื่องต่อไป จริงๆเรื่องนี้เคยดูเมื่อนานมากแล้วตอนเรียนอยู่แล้วก็จำได้ว่ารู้สึกเฉยๆมากๆ เพราะมันไม่ป๊อปไม่จี๊ดเหมือน Chungking Express ซึ่งถ้าจะว่าไปก็ไม่แปลกอะไรเพราะช่วงนั้นแฟนก็ไม่มี หนังชู้รักวัยกลางคนแบบนี้คงเข้าไม่ถึงเราหรอก แต่พอมาดูเอาตอนนี้ขอบอกเลยว่ากูตายสนิทค่ะ!

หนังจับเราได้อยู่หมัดตั้งแต่กวีตอนเปิดเรื่องแล้ว มันพูดถึงความลับระหว่างกันที่ไม่เคยถูกสะสางอันเป็นธีมของเรื่องราวทั้งหมดในหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักผิดบาประหว่างมิสเตอร์โจวกับมิสซิสจาง ความรักที่ต้องต่อสู้กับไดเลมม่าทางศีลธรรม มันไม่ใช่แต่เพียงศีลธรรมภายนอกของความคาดหวังในสังคม แต่มันยังรวมถึงศีลธรรมภายในใจที่หากเลือกไปก็จะไม่ต่างจากคนที่ทำให้เจ็บ (อันนี้กูเจ็บมากๆ)

ในเรื่องนี้เราได้เห็นเทคนิคใหม่ที่ยังไม่เคยได้เห็นในหนังของหว่องมาก่อนเลย นั่นคือเทคนิคการเล่าเรื่องซ้ำในสองมุมมองและการหลอกผู้ชมด้วยการแสดงซ้อนการแสดง แง่หนึ่งมันคือการเปิดเปลือยอินเนอร์ของตัวละครทั้งสอง แต่อีกแง่มันก็ส่งผ่านความรู้สึกของการถูกหลอก(แบบที่ตัวละครทั้งสองโดนอยู่)มายังผู้ชม ย้ำชัดด้วยการที่หนังไม่จับภาพให้เห็นเด่นชัดของอีกคู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสามีของเธอและภรรยาของเขา หากเรามองว่าการไม่เห็นหน้าคือความไม่จริงใจอย่างหนึ่ง มันคือความเหินห่างแบบหนึ่ง ปอกรกับการแทรกภาพนาฬิกาขนาดใหญ่อยู่เกือบตลอดทั้งเรื่องในหนัง แน่นอน! เวลาคืออาวุธทรงอานุภาพที่ใครๆรู้ดี เวลาทำลายทุกสิ่ง เวลาทำให้ทุกอย่างเจือจาง เวลาซ่อนความรู้สึกไว้ในสายลม

และในองค์ประกอบในบรรดาหนังของหว่องทั้งหมดที่เราได้ดู ไม่ว่าจะเป็นงานภาพ ฉาก ศิลป์ โลเคชั่น เสื้อผ้าหรือแม้แต่ดนตรีและบรรยากาศ เราชอบองค์ประกอบเหล่านั้นในเรื่องนี้ที่สุด มากจนอยากรู้ว่ามันถ่ายส่วนไหนของกรุงเทพ

และแน่อนที่สุด กี่เพ้าของจางม่านอวี๊คือสิ่งมหัสจรรย์ในโลกภาพยนตร์!!!

ปล. ฉากที่เจ็บที่สุดสำหรับเราคือฉากการสั่งสเต็กให้กันและกันโดยอ้างอิงจากความชอบของคู่ความสัมพันธ์ของตัวเอง

ปลล.หนังเรื่องนี้มีโปสเตอร์แฟนเมดระดับพระกาฬเยอะมาก สวยๆทั้งนั้น

18/03/14 – Kick Ass Girls (Goo-Bi GC/ HK/ 2013) – 1.5/5

ณ ฟิสเนสที่กำลังจะเจ๊งแหล่ไม่เจ๊งแหล่ เจ้าของของฟิสเนสแห่งนี้คือหญิงงามหุ่นเริดที่ต้องประคับประคองฟิสเนสนี้ไว้โดยการจ้างบรรดาสาวหุ่นดีๆมาเป็นเทรนด์เนอร์เพื่อเรียกเหล่าชายกลัดมันมาเป็นสมาชิก บางเวลาก็มีการโชว์ต่อยมวยแบบสองแง่สองง่ามเพื่อเรียกแขกเก็บตังค์พนันได้เงินอีกทอดหนึ่ง ในวันเกิดของเธอ เพื่อนรักเก่าที่เลิกคบกันไปแล้วก็กลับมา มาง่อนๆงอนๆตามประสา ก่อนที่เหล่าพวกเธอ(มีสามคน)จะจับพลัดจับพลูกลายไปเป็นบอดี๊การ์ดให้กับอีสาวนางหนึ่งที่มาเลเซียแล้วก็ได้รับรู้ว่าถูกหลอกมาเพื่อให้กลายมาเป็นนักสู้พนันใต้ดิน….ทั้งหมดทั้งมวลคือเรื่องเล่าของพวกเธอตอนให้สัมภาษณ์รายการทีวีรายการหนึ่ง

*** อย่าให้โปสเตอร์และสองเต้านั้นหลอกคุณ! (หลอกกูก็พอ สัด!) ***

ไอ้ที่เล่าเรื่องไปยาวๆนั้นก็ไม่ใช่อะไรหรอก มันไม่รู้จะเขียนอะไรถึงหนังจริงๆ โอเคมันคือหนังมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่ซื่อๆตรงๆไร้มิติ แอ็คชั้นในหนังก็ง่อยเปลี้ยเหลือเกิน จะหากความเซ็กซี่ก็ยากแสนยากไร้ความดึงดูดใดๆ จะเซอร์ไพร์สหน่อยก็ตรงที่ผู้กำกับเป็นผู้หญิงและเป็นนักแสดงด้วย น่าคิดเหมือนกันที่ผู้กำกับผู้หญิงมาทำหนังที่เน้นเสิร์ฟให้เพศชายดู (ไม่พูดถึงหนังโป๊นะ) เลยทำให้คิดไปถึงตอนที่เคยอยู่วงการโฆษณาที่ว่าพวกผู้กำกับโฆษณาชุดชั้นในสตรีนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แปลกดีเหมือนกัน แล้วก็อาจเป็นเหตผลหนึ่งด้วยที่หนังไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการ gaze ของผู้ชาย คือมันมีสัปดน มีเซ็กซี่แหละแต่ด้วยมุมด้วยอะไรหลายๆอย่างมันดูไม่ใช่สายตาของผู้ชายน่ะ

20/03/14 – สะบายดี วันวิวาห์ (ศักดิ์ชาย ดีนาน/ ลาว, ไทย/ 2554) – 1/5

กลายเป็นภาคที่ด้อยที่สุดในไตรภาค ปัญหาของหนังคือความเหินห่างอันมากมายระหว่างคนดูกับตัวละคร ใครจะเป็นไงมาไงไม่รู้ ตัวหนังจะมุ่งแต่การเสนอภาพของวัฒนธรรมงานแต่งและความคิดอ่านของคนลาวเพียงอย่างเดียว สิ่งที่คนดูได้รับคือการได้รู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นแต่ดันกลับไม่ได้ต้องการที่จะจดจำใดๆเลย รวมไปถึงความไม่สมเหตุสมผลในหลายๆเรื่องที่ดูแล้วก็มีแต่ขัดใจ

ก็เข้าใจนะว่าผู้สร้างมีปัจจัยหลายๆอย่างบีบอยู่ (เห็นว่าหนังถ่ายไปพร้อมๆกับภาคสอง) แต่ภาคนี้มันด้อยกว่าสองภาคก่อนแบบขัดหูขัดตาจริงๆ (หากเรียงลำดับความชอบของเราก็จะได้ตามภาคของหนังเลย)

อนึ่ง คำลี่ พิลาวง พิสูจน์แล้วว่าเธอเล่นหนังไม่เวิร์กนะ (ยังไม่ได้ดู ผ้าพันคอแดง)

ปล. หนังมีการพูดถึงการปิดประท้วงที่สนามบินด้วย  แล้วก็บอกด้วยว่าการประท้วงในไทยน่ะทั่วโลกเขาเข้าใจกันดี….นะเธอว์

ปลล. เห็นว่า ผกก. มีการนำหนังภาคหนึ่งและสองมาตัดต่อใหม่เป็นหนังอีกเรื่องชื่อ สะบายดีปากเซ-หลวงพะบาง เดี๋ยวคงต้องลองหามาดู

21/03/14 – Naked Soldier (Marco Mak/ HK/ 2012) – 2/5

หนึ่งในซีรีย์ ‘เพชฌฆาตกระสุนเปลือย’ ภาคล่าสุดต่อจาก Naked Weapon (2002) และ Naked Killer (1992) (เรื่องหลังนี่ยังไม่ได้ดูและก็น่าสังเกตว่าแต่ละภาคห่างกัน 10ปีพอดิบพอดี) จากการเขียนบทของหวังจิงเจ้าเก่าโดยตัวหนังก็เดินตามขนบเรื่องเดิมคือการจับเด็กสาวมาฝึกเป็นนักฆ่า ปอกรกับพล๊อตรองและนักแสดงที่แตกต่างไปในแต่ละภาค ในภาคนี้คือเรื่องของการผลัดพรากของลูกสาวที่โดนจับไปเป็นนักฆ่าและผู้เป็นพ่อที่เป็นตำรวจ อืมมม พล๊อตอี๊มาก ซึ่งมันก็อี๊มากจริงๆแหละ อิ๊จนกลายเป็นเรื่องตลกไปเลย แต่เอาหน่ะ เราพบว่าหนังมันมีคิวบู๊ที่สนุกและบันเทิงดี หงจินเป่ายังคงพลิ้วไหวคล่องแคล่วและรู้สึกเป็นบุญตามากกับการปะกันของ หวงชิวเซินและหงจินเป่าในไคลแม็กซ์ช่วงท้าย

22/03/14 – Isabella (Ho-Cheung Pang/ HK/ 2006) – 3.5/5

สองสิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้คือ หนึ่ง การถ่ายทอดภาพและบรรยากาศของเมืองมาเก๊า ไม่ว่าจะในห้อง ในตึก ในซอกซอยต่างๆผ่านภาพสีหม่นสวยงามควบเคล้ากับความเศร้าสร้อยในทีกับเรื่องราวการพบกันของพ่อลูกผู้ผลัดพราก และสองคือความโดดเด่นอย่างที่สุดของตัว อิซาเบลลา เหลียง กับบทบาทลูกที่รักพ่อด้วยความรู้สึกหมิ่นเหม่

ส่วนที่เหลือจากนั้นเราพบว่าถ้าเราได้ดูมันเร็วกว่านี้(อย่างน้อยก็ในช่วงหลังจากที่หนังออกฉากซัก 2-3 ปี) เราจะชอบมันมากแน่ๆกับเรื่องราวพ่อผู้เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นด้วยการมาของลูกสาวที่ไม่รู้ว่าเคยมี การมาดูเอาตอนนี้ที่เคยเจอหนังแบบนี้มาบ่อยแล้วก็เลยรู้สึกเฉยๆกับหนังไปโดยปริยาย

23/03/14 – Ernest & Celestine (Stéphane Aubier, Vincent Patar, Benjamin Renner/ France, Belgium, Luxembourg/ 2013) – 3.5/5

เป็นอนิเมชั้นที่เต็มไปด้วยทุกอย่างที่ทำให้ผู้คนหลงรักได้อย่างง่ายดาย ทั้งเรื่องราวของมิตรภาพต่างสปีชี่ ในภาวะของการเป็นคนระดับล่างของสังคมที่เต็มไปด้วยการการตีกรอบความคิดต่างๆนาๆ ซึ่งหนังมันก็พูดถึงการเหวกกรอบที่ว่านั้นอันมาด้วยการจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งตามสูตร (ซึ่งเราว่ามันหาทางออกให้ตัวละครง่ายเกินไปหากมองในแวดล้อมของมันเอง)

อย่างไรก็ตาม การได้ดูอนิเมชั้นสีน้ำแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าจดจำอยู่แล้ว เหมือนครั้งแรกที่เราได้ดู My Neighbors the Yamadas ของจิบลินั้นแล

23/03/14 – Red Wedding (Lida Chan, Guilaume Suon/ Cambodia, France/ 2013) – 3/5

เหมือนเป็น side story ของ S21: The Khmer Rouge Killing Machine ของ ฤทธี ปาน (ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่องนี้ด้วย) ที่พูดถึงเหตุการณ์ช่วงเขมรแดงปกครองประเทศกัมพูชาเหมือนกัน โดยที่ S21 นำพาคนดูไปพบกับนักโทษและผู้คุมที่ยังมีชีวิตอยู่ให้มาเจอกันที่คุกโตงแสลงพร้อมๆกับการแสดงบทบาทของผู้ทรมานและผู้ถูกทรมาน ส่วนในเรื่องนี้คือการพูดถึงเหล่าหญิงสาวชาวกัมพูชากว่า 250,000คนที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับกองทัพเขมรแดงตามนโยบาทเพิ่มประชากรในยุคเขมรแดงครองเมือง โดยที่หนังก็เลือกใช้วิธีเดียวกันคือการตามชิวิตหญิงสาวที่เป็นเหยื่อในเหตุการณ์ยุคนั้นมาเล่าช่วงเวลาความเลวร้ายต่างๆมากมาย โดยที่ไฮไลท์ของหนังคือการไปเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่บ้านและรองผู้ใหญ่บ้านผู้ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของเขมรแดงอันมีบทบาทในการบังคับการแต่งงานอันเลวร้ายเหล่านั้น

สิ่งที่หนังมอบให้ก็ยังคงเหมือนกับ S21 เช่นกันคือการไปรับรู้ถึงความเลยร้ายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยกันเองในยุคหนึ่ง ในเหตุการณ์ที่หลายๆคนอยากจะลืมมันไป…

23/03/14 – Jazz in Love (Baby Ruth Villarama/ Philippines, Germany, France/ 2013) – 3/5

หนังว่าด้วยกระเทยนางหนึ่งชื่อแจ๊ส พบรักกับชายชาวเยอรมันผ่านทางเฟตบุ๊ค ทั้งคู่ดูจริงจังกันดี แจ๊สเลยตั้งใจไปเรียนและสอบอ่านเขียนภาษาเยอรมันให้ผ่านตามกฏหมายการแต่งงานของเยอรมันอย่างที่ฝัน ส่วนชายชาวเยอรมันผู้นั้นก็มาเยี่ยมเยือนครอบครัวของแจ็สในฟิลิปปินส์ก่อนการตัดสินใจที่จะก้าวเดินกันต่อไป

ส่วนตัวเราว่าหนังมันหวานดีในเบื้องหน้า มันรักกุ๊กกิ๊กพ่อแง่แม่งอน แต่หลังม่านมันก็เผยให้เห็นการดิ้นรนของคนชายขอบกับความขัดแย้งทางความเชื่อของสังคม(ซึ่งมีตัวพ่อเป็นคีย์หลัก)ซึ่งจริงๆส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ให้ได้รู้สึกวู้วว้าวเท่าไหร่ เว้นเสียแต่ในบางซีนอย่างซีนในรถยนตร์ทุกซีนที่มักเกิดบทสนทนาเรื่องความเชื่อหรือความขัดแย้งของคนหรือสังคม น่าสนใจที่พวกความคิดความเชื่อเหล่านี้มันเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ปิดเท่านั้น หรือกับความคิดอ่านของตัวคนต่างชาติเองที่ช่วยทำให้หนังมันเลยพ้นความเป็นสารคดีรักเลี่ยนๆไปได้

อนึ่ง ชอบฉากการเม๊าส์มอยของกระเทยสามนาง ณ จุดชมวิวมากอย่างประหลาด ไม่รู้ทำไม

23/03/14 – To Singapore, With Love (Tan Pin Pin/ Singapore/ 2013) – 4.5/5

ถือเป็นความโชคดีที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เพราะมันช่วยกระตุ้นบอกกับเราว่าตัวเรานั้นมีความรู้น้อยมากๆกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มเพื่อนประเทศในเอเชียนที่กำลังจะรวมตัวกันเป็น AEC ในเร็วๆนี้ ในเรื่องนี้คือสิงคโปร์อันว่าด้วยกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่หนีออกนอกประเทศในยุคล่าคอมมิวนิสต์ (ทศวรรษที่ ’60-’70) ที่หนีไปอยู่ทั้งในอังกฤษ, มาเลเซียหรือแม้แต่ในไทย โดยที่พวกเขาก็ยังไม่สามารถกลับเข้าประเทศตัวเองได้จวบจนปัจจุบัน และนี่คือเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องของพวกเขาที่มีต่อประเทศบ้านเกิดที่พวกเขารักและคิดถึง

อย่างที่บอก เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างในสิงคโปร์จะมีเหตุการณ์การไล่ล่าคอมมิวนิสต์ที่รุนแรงแบบนี้ด้วยแถมในตอนนี้ก็ยังไม่เปิดรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อยู่ดีทั้งๆที่โลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว (เว้นเสียแต่ต้องยอมรับความผิดและรับปากกับทางรัฐบาล) แม้แต่ลูกหลานพวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับการเป็นประชากรของสิงคโปร์ทั้งๆพี่พวกเขาสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศได้อย่างยิ่ง (หนึ่งคือหมอ อีกหนึ่งคืออาจารย์มหาวิทยาลัย) มันน่าตลกและแปลกประหลาดมาก มากเสียจนอยากศึกษาเพิ่มเติม

ฉากที่สรุปหนังได้ดีที่สุดก็คงเป็นฉากเดียวกับในโปสเตอร์ มันคือการยืนอยู่ริมแม่น้ำในมาเลเซียที่ฝั่งตรงข้ามคือสิงคโปร์แต่ไม่สามารถข้ามไปได้

ปล. หนังถูกถอดโปรแกรมจากเวิร์ลฟิล์มครั้งล่าสุดเนื่องจากหนังมีการถ่ายทำในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาติ (ตลกฉิบหาย)

29/03/14 – +1 (Dennis Iliadis/ US/ 2013) – 4/5

ไอเดียของหนังเก๋ดีและมันก็ทำออกมาได้เจ๋งดีด้วยเช่นกัน มันว่าถึงกลุ่มเด็กมัธยมในงานปาตี้สุดยิ่งใหญ่กับเหตุการณ์ประหลาดที่กลายมาเป็นกระจกเงารสะท้อนภาวะภายของวัยรุ่น ของสังคม ของความสัมพันธ์รวมไปถึงตัวตนของพวกเขาเอง

เราชอบตรงที่มันเอาความเป็นไซ-ไฟมาใช้ได้อย่างฉลาดล้ำ กล่าวคือเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นคือการซ้อนทับของมิติเวลา ปัจจุบันซ้อนอดีตบ้าง อนาคตซ้อนอดีตบ้างหรือแม้แต่ปัจจุบันซ้อนกับอนาคต ซึ่งซ้อนในที่นี้คือซ้อนกันจริงๆ ตัวละครเดียวกันมาพบกันเองหรือไม่ก็ปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นในอีกห้วงเวลา แล้วพอไอ้ตัวละครต่างๆมันเริ่มรู้สึกถึงความประหลาดนี้มันก็เลยพยายามจะใช้ประโยชน์จากมัน ไอ้พระเอกก็ไปพยายามแก้ไขความสัมพันธ์กับแฟนมัน ไปติดกับอดีต หรือตัวเพื่อนมันก็นั่งคุยกับตัวเองในอดีต (อันนี้จี๊ดและเจ็บมาก) แต่ส่วนที่มันทำให้หนังมันไปไกลคือการที่มันพูดถึงตัวตน พูดถึงภาวะปัจเจกของตัวบุคคล ตั้งคำถามกับผู้ชมถึงความเป็นปัจเจกด้วยฉากฆาตกรรมหมู่ในบ้านปิดทึบ

ผู้กำบคนนี้เคยทำ The Last House On The Left (2009) งานรีเมคที่เราก็ชอบมากๆเช่นกัน ส่วนพระเอกคือ Rhys Wakefield ที่เราติดภาพไอ้โรคจิตใน The Purge มากกว่า

30/03/14 – The Missing Picture (Rithy Panh/ Cambodia, France/ 2013) – 4/5

อาจเพราะเราได้ดู S21: The Khmer Rouge Killing Machine ของฤทธี ปาน เองและ Red Wedding ที่ฤทธี ปาน เป็นโปรดิวเซอร์ อันว่าด้วยเรื่องราวความเลวร้ายในยุคเขมรแดงมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งก็ทำเอาจุกอกและหายใจขัดได้ทั้งคู่ แล้วพอมาได้ดูเรื่องนี้เราเลยเฉยๆกับเรื่องราวของเขมรแดง แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร ความสำคัญมากๆของหนังคือการสร้างภาพความทรงจำที่หายไปในนามของตัวบุคคล น่าสนใจที่ใน S21 เราได้เห็นการสร้างภาพของผู้กระทำ-ถุกกระทำในคุกโตนแสลง, ใน Red Wedding เราได้เห็นในเรื่องที่คล้ายกันแต่คือการย่อส่วนสัดลงไปในกลุ่มหมู่บ้าน (หนังพูดถึงหญิงที่ถูกข่มขืนเพื่อดำเนินตามนโยบายเพิ่มประชากรของเขมรแดง) แล้วพอมาเรื่องนี้มันเป็นการย่นย่อไปในจุดที่เล็กที่สุดนั้นคือการสร้างภาพของตัวบุคคลในที่นี้คือตัวของ ฤทธิ ปานเองผู้ที่โดนผลกระทบกับเหตุการณ์ในยุคนั้นแบบเต็มๆ ผ่านดินน้ำมันผิวขรุขระไม่ราบเรียบที่ฉาบไปด้วยความเศร้าบนฉากการซ้อนทับของหุ่นดินบนภาพเคลื่อนไหวจริงที่เป็นไปทั้งในแง่การสร้างความทรงจำขึ้นพร้อมๆกับการสะกิดแผลเป็นให้พุพอง

เรารู้สึกจริงๆว่าหนังสารคดีของประเทศในอาเซียนนี่ดีๆทั้งนั้นเลย ที่สำคัญคือการที่มันกล้าเข้าไปพูดถึง ไปเปิดเปลือยความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศของตัวเองที่อย่างน้อยๆก็เป็นไปเพื่อการเรียนรู้และศึกษาเพื่อที่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก

คงต้องรีบเก็บ Enemy of the People, Cambodia After Farewell และ Golden Slumbers โดยเร็ว

30/03/14 – The Song Of Rice: เพลงของข้าว (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์/ ไทย/ 2557) – 5/5

สารภาพว่าไม่เคยดูหนังของต้อยอุรุพงศ์มาก่อน (อาจจะผ่านตาหนังสั้นมาแค่บางเรื่องเท่านั้น) จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ท้ายที่สุดเราก็ได้ดูหนังปิดไตรภาคเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของเขา แต่ถึงอย่างไรหนังเรื่้องนี้ก็ได้เป็นหนึ่งในหนังที่เราขอยกให้มันเป็นหนังที่มหัสจรรย์มากที่สุดของปี! ตอนดูนี่เราหลุดเข้าไปอยู่ในหนังแบบหมดจิตจริงๆ ไปวู้วว้าว อมยิ้ม เพลิดเพลินกับสิ่งที่ปรากฏในหนัง มารู้ตัวอีกทีก็สังเกตว่าเรากำลังนั่งอ้าปากค้างอยู่ (ไม่ได้เว่อร์ อันนี้พูดจริงๆ) ภาพในหนังถือได้ว่าอยู่ในระดับน่าตื่นตะลึง บวกกับพลังของกล้องที่เคลื่อนไปหรือการจับโมเม้นต์แวดล้อมต่างๆในเหตุการณ์ต่างๆนั้นก็เต็มไปด้วยการสื่อสาร ทั้งๆที่ตัวหนังเองนั้นไม่ได้ต้องการจะเล่าเรื่องใดๆเลย ไม่ต้องการที่จะตัดสิน สิ่งเดียวที่หนังต้องการมอบให้แก่ผู้ชมคือการเข้าไปเฉลิมฉลองในโรงร่วมกับเหล่าชาวนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว

อีกสิ่งหนึ่งคือตอนดูเราไม่รู้เลยว่าหนังถ่ายในหลายๆที่ทั่วประเทศไทย คือตอนดูก็มีสงสัยอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้คิดต่อยอดอะไรมั่วแต่เพลินไปกับหนัง ซึ่งมันก็ช่วยให้เห็นความหลากหลายเพิ่มขึ้นนอกจากความตื่นตะลึงของภาพบนจอ

มันเป็นหนังที่ต้องดูในโรงใหญ่จริงๆ ด้วยฟอร์แมทที่เหมาะสม รับรองว่าฟินกันกระจาย

ปล. ดูจบกูรีบคว้าแผ่น สวรรค์บ้านนา มาเลยทีเดียว

30/03/14 – Mee Pok Man (Eric Khoo/ Singapore/ 1995) – 5/5

Be With Me หนังยาวเรื่องที่สามของ อีริค คู คือที่หนังในหนังที่เรารักมากที่สุดตลอดกาล หนังเรื่องนี้คือหนังเรื่องแรกของเขาที่จะเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดของปีนี้อย่างแน่นอน

อย่างที่เราเคยบอกอยู่เสมอว่าเราแพ้ทางหนังที่เล่าเรื่องราวเล็กๆแต่เต็มไปด้วยความซับซ้อนในรายละเอียดของชีวิตผู้คน ซึ่งหนังเรื่องนี้มีทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มันเปิดเรื่องด้วยภาพการกินขี้ปี้นอน ก่อนเข้าไปว่าถึงชายกำพร้าที่ดูไม่สมประกอบที่แอบหลงรักกระหรี่สาวผู้ฝันอยากออกไปจากชีวิตอันเส็งเคร็ง สิ่งที่คูทำคือการทิ้งรายละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมด รายละเอียดของชีวิตเล็กๆที่ถูกตีกรอบไปไว้ด้วยสิ่งแวดล้อมต่างๆนาๆ มันพูดถึงความหวังของชีวิต ความอยู่รอดและความฝันอันเป็นสามสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้พึงมี แต่ไม่ได้การันตีว่าจะได้มา หนังค่อยๆเปิดเปลือยชีวิตของตัวละครจากปัจจุบันย้อนหาสู่อดีต อดีตอันส่งผลมาสู่ปัจจุบัน ความสดใสค่อยๆแตกสลาย ความฝันค่อยๆเลือนลาง จนท้ายที่สุดก็ไม่หลงเหลืออะไรอีกเลย

ตายครับ ตายสนิทและแตกเป็นเสี่ยงๆ

30/03/14 – 12 Storeys (Eric Khoo/ Singapore/ 1997) – 4/5

หนังเรื่องที่สองของคูและเป็นหนังเรื่องแรกของสิงคโปร์ที่ได้ไปคานส์ แล้วก็เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาเล่าเรื่องแบบหลากชีวิต (วิธีเดียวกันใน Be With Me หนังเรื่องต่อมา) ในที่นี่คือสามครอบครัวที่พักอยู่ในอพาตเม้นต์เดียวกันอันประกอบไปด้วยครอบครัวพี่น้อง 3 คนที่คนพี่ต้องปกป้องน้องๆในขณะที่พ่อ-แม่ไม่อยู่, หญิงอ้วนลูกเลี้ยงที่ได้ยินเสียงแม่ด่าตลอดเวลาแถมยังรักลูกเลี้ยงมากกว่าตัวเธอและคู่สามีสิงคโปร์กับภรรยาชาวจีนที่ทะเลาะกันตลอดเวลา โดยมีวิญญาณหนุ่มที่ตายในตอนต้นเป็นผู้พาคนดูไปร้อยเรียงเรื่องราว

หนังค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการพูดถึงตัวประเทศสิงคโปร์เองผ่านไอ้สามครอบครัวนี้ที่จะว่าไปก็สามารถแตกได้หลายประเด็นแล้วทั้งเรื่องของความคิดคนต่างยุค, ระบบการศึกษาและแข่งขันในสิงคโปร์ (หนังมีภาพการล๊อบบี้อาจารย์ด้วย), การแสดงบุคลิก/ลักษณะของคนสิงคโปร์รวมไปถึงภาพลักษณ์ของตัวประเทศสิงคโปร์เอง (ผ่านการมาขุดทองของสาวชาวจีน) หรือแม้แต่ภาวะชนชั้นของสังคมด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติผ่านการใช้ภาษามากมายในหนังทั้งอังกฤษ, จีนกลาง, จีนกวางตุ้ง, จีนฮกเกี้ยน, ตากาล็อกรวมไปถึงภาษามาเล (ข้อมูลจาก IMDB)

มันเป็นหนังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน้ำเน่าแต่ก็เป็นหนังที่ตลกมากๆ เชื่อว่าถ้ามีความรู้ในบริบทของสิงคโปร์มากกว่านี้คงจะได้อะไรเยอะขึ้น (โดยเฉพาะบทสนทนาต่างๆที่เกิดขึ้นบนสภากาแฟในเรื่อง)